xs
xsm
sm
md
lg

ปะการังภูเก็ตหลังฟอกขาวหลายจุดเริ่มมีตัวอ่อนลงเกาะ-บางจุดยังน่าเป็นห่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนวปะการังตัวอ่อนเริ่มลงเกาะ
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เผยสถานการณ์ปะการังรอบเกาะภูเก็ตพบหลายจุดเริ่มมีตัวอ่อนลงเกาะ ขณะที่บางจุดยังน่าห่วง เหตุมีตะกอนจากจากการชะล้างปกคลุมแนวปะการัง เรียกร้องตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างแนวชายหาดให้เป็นไปตามตามกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อมของจังหวัดภูเก็ต มีการป้องกันตะกอนดินไหลลงทะเล

นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ภูเก็ต กล่าวถึงสถานการณ์การติดตามตรวจสอบแนวปะการัง ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต หลังจากเกิดปรากฏการณ์ปะการังฝอกขาวตั้งแต่ปี 2553 ว่า จังหวัดภูเก็ตมีแนวปะการังก่อตัวอยู่ เกือบรอบเกาะภูเก็ต รวมทั้งเกาะบริวาร รวมพื้นที่ประมาณ 10,400 ไร่

เหตุการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในปี 2553 ส่งผลให้แนวปะการังในส่วนของจังหวัดภูเก็ตมีความเสียหายแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น องค์ประกอบชนิดปะการังซึ่งมีทั้งประเภทที่ทนต่อการฟอกขาวและชนิดที่อ่อนไหว การหมุนเวียนของกระแสน้ำในแนวปะการัง และอิทธิพลของมวลน้ำจากทะเลลึก ที่ทำให้อุณหภูมิลดลงเป็นครั้งคราว

จากการติดตามตรวจสอบในแนวปะการังหลายแห่งในเขตจังหวัดภูเก็ต เช่น ชายฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต เป็นด้านที่ได้รับแรงประทะจากคลื่นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้รุนแรง จึงมีแนวปะการังก่อตัวได้เฉพาะตามปีกอ่าว ที่สามารถกำบังคลื่นลมได้เท่านั้น เช่น อ่าวป่าตอง อ่าวกมลา อ่าวกะตะ

จากการวิเคราะห์ความเสียหายที่เกิดจากปะการังฟอกขาว พบว่า แนวปะการังทางชายฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ตเสียหายประมาณ 25-50% ทั้งนี้ ยกเว้นที่ปีกอ่าวกะรนด้านใต้ ซึ่งพบความเสียหายน้อยมาก) เนื่องจากมวลน้ำเย็นจากคลื่นใต้น้ำที่ประทะกับชายฝั่งตะวันตกเป็นครั้งคราวเป็นสิ่งที่ทำให้อุณหภูมิไม่สูงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ลดความรุนแรงในการเกิดปะการังฟอกขาวได้บ้าง อีกประการหนึ่ง ชายฝั่งด้านตะวันตกมีปะการังดาวใหญ่ และปะการังสีน้ำเงินค่อนข้างเด่น ซึ่งปะการังทั้งสองชนิดนี้สามารถต้านการฟอกขาวได้ดี

ส่วนเกาะบริวารที่อยู่ใกล้ชายฝั่งเกาะภูเก็ต เช่น เกาะเฮ เกาะแอว เกาะโหลน พบว่าผลกระทบจากการเกิดปะการังฟอกขาวรุนแรงกว่าแนวปะการังทางฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต เนื่องจากเกาะเหล่านี้มีปะการังเขากวางเด่นในพื้นที่ ซึ่งปะการังประเภทนี้อ่อนไหวต่อการฟอกขาวและไม่สามารถทนต่อการฟอกขาวได้ ความเสียหายบริเวณเกาะแอวประมาณ 70% เกาะอื่นๆ ก็เกิดความเสียหายพอๆกับที่เกาะแอว

ขณะที่บริเวณเกาะราชาใหญ่ เกาะราชาน้อย ความเสียหายสูงถึง 97% ในอ่าวทางตอนเหนือ (อ่าวสยาม) ซึ่งเป็นแหล่งที่มีปะการังเขากวางขึ้นเป็นดงกว้างใหญ่

แนวปะการังฝั่งตะวันออกความเสียหายรุนแรงน้อยกว่า คือประมาณ 30-40% ส่วนฝั่งตะวันตก (อ่าวพลับพลา) เกือบไม่พบความเสียหายเลย เนื่องจากเป็นจุดที่มีมวลน้ำจากทะเลลึกพัดเข้ามาเป็นครั้งคราว และมีปะการังสีน้ำเงินขึ้นเป็นดงกว้าง

นายวรรณเกียรติกล่าวต่อไปว่า จากการศึกษาการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังบริเวณฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต เช่นอ่าวป่าตองบางจุด อ่าวกะรน อ่าวกะตะ อ่าวเสน พบว่าตัวอ่อนปะการังมีความหลากหลายของชนิดมากกว่า เมื่อเทียบกับบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์และสิมิลัน โดยพบว่า บริเวณอ่าวกะรนมีความหลากหลายของชนิดของตัวอ่อนปะการังสูงกว่าสถานีอื่นๆ

ส่วนบริเวณอ่าวป่าตองด้านเหนือ และอ่าวป่าตองด้านใต้ มีตัวอ่อนปะการังน้อยกว่าบริเวณอื่น ๆ ทั้งในแง่ชนิดและจำนวน ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากปริมาณตะกอนที่ปกคลุมในแนวปะการังบริเวณเหล่านี้มีค่อนข้างสูง ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุให้แนวปะการังอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมแล้ว ตะกอนดังกล่าวยังเป็นอุปสรรคต่อการลงเกาะและฟื้นตัวของปะการังอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าบริเวณชายฝั่งด้านเหนือของอ่าวป่าตอง และบริเวณอ่าวกะตะ มีการเปิดพื้นที่บริเวณใกล้ชายหาดและบนที่สูง เพื่อก่อสร้างโรงแรมโดยไม่มีการป้องกันการชะล้างตะกอนลงสู่ทะเล อันเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสาเหตุให้แนวปะการังดังกล่าวมีความเสื่อมโทรมลง นอกเหนือจากความเสียหายที่เกิดจากปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว ทั้งนี้ ตะกอนจากชายฝั่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ยับยั้งการฟื้นตัวของแนวปะการังในบริเวณนี้ ดังนั้น จึงควรเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการตรวจสอบให้การก่อสร้างในพื้นที่ชายฝั่งเป็นไปตามกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อมของจังหวัดภูเก็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น