xs
xsm
sm
md
lg

พบอีกหมู่บ้านเมืองคอนยังถูกตัดขาด 60 ครัวเรือนระทม - ชาวบ้านล้อมจับ “ไอ้ยักษ์” จระเข้ 4 ม.ได้อีก 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - พบอีกหมู่บ้านถูกตัดขาดจากโลกภายนอก บ้านห้วยแก้ว หมู่ 3 ต.เขาน้อย อ.สิชล ชาวบ้านกว่า 60 ครัวเรือน ยังระทม ส่วนที่ ต.ปากพูน ชาวบ้านล้อมจับ “ไอ้ยักษ์” จระเข้ยาวเกือบ 4 เมตร เทศบาลนครนครศรีฯ ยันเป็นของเทศบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะใน อ.นบพิตำ และ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุ่มเททำงานกันอย่างหนัก ทั้งการช่วยเหลือเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย ก็ได้ทยอยสร้างบ้านน็อกดาวน์ให้อยู่อาศัยชั่วคราว รวมทั้งเรื่องเส้นทางการสัญจรที่สามารถซ่อมแซมปรับปรุงจนสามารถใช้การสัญจรเชื่อมโยงกันได้เกือบทุกเส้นทางแล้ว

นายธีระพงษ์ สมเขาใหญ่ รองนายก อบจ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง พบว่า อ.สิชล และ อ.นบพิตำ เสียหายอย่างหนัก โดยในขณะนี้พบว่ายังมีหมู่บ้านที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอยู่อีก 1 จุด คือ หมู่ 3 บ้านห้วยแก้ว ต.เขาน้อย อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช โดยสามารถเข้าไปถึงได้แค่บ้านสำนักเนียน หมู่ 3 ต.เขาน้อย เท่านั้น ส่วนบ้านห้วยแก้วซึ่งมีพื้นที่ติดกัน แต่ต้องเดินทางลงต่อไปจากบ้านสำนักเนียนอีกประมาณ 3 กม.และอยู่ลึกเข้าไปในหุบเขา เส้นทางซึ่งเป็นถนนที่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้มีเพียงเส้นทางเดียวแต่ถูกกระแสน้ำพัดกัดเซาะจนถนนขาดเป็นช่วงๆ ละ 10 เมตร สะพานเข้าหมู่เสียหายทั้งหมด

โดยถนนยังไม่ได้ปรับปรุงซ่อมแซม จึงไม่สามารถใช้ยานพาหนะทุกชนิดสัญจรได้ ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านห้วยแก้ว ประมาณ กว่า 60 ครัวเรือน ต้องเดินออกมาขอรับถุงยังชีพที่บ้านสำนักเนียนและเดินกลับเข้าหมู่บ้าน ซึ่งถือว่าชาวบ้านยังเดือดร้อนอย่างหนัก

สำหรับการแก้ปัญหาโดยการนำดินไปถมถนนยังทำไม่ได้ เพราะน้ำในลำคลองยังสูง เมื่อน้ำลดหากซ่อมแซมโดยการนำดินไปถมคงไม่ได้ผล เนื่องจากหากฝนตกหนักน้ำก็จะไหลกัดเซาะถนนในจุดเดิมขาดอีก เพราะมีทางน้ำเดิมอยู่แล้ว จึงน่าจะต้องใช้การวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ให้น้ำสามารถระบายลอดข้ามถนนได้

สำหรับชาวบ้านที่บ้านเรือนพังเสียหายทั้งหลัง ที่ทางราชการกำลังเร่งสร้างบ้านน็อกดาวน์ให้อาศัยชั่วคราวนั้น ตนกำลังจะติดต่อกับผู้ใจบุญขอให้บริจาคเครื่องครัวอย่างน้อย 40 ชุด เพื่อมอบให้กับชาวบ้านที่จะเข้าไปอยู่ในบ้านน็อกดาวน์ได้ใช้ในการดำรงชีวิต เพราะเขาไม่มีเงินทุนในการซื้อเครื่องครัวรวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้

“สิ่งที่เป็นปัญหาหนักในขณะนี้ คือ ชาวบ้านที่บ้านพังเสียหายไม่กล้าปลูกบ้านอยู่ที่เดิม เพราะหวาดผวาภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใดก็ได้ นอกจากนี้ จะมีปัญหาอื่นๆ ตามมา เพราะหลังจากนี้ผู้หลักผู้ใหญ่จะเข้ามาดูแลในพื้นที่น้อยลง รวมทั้งการช่วยเหลือต่างๆ ก็จะน้อยลงด้วย ชาวบ้านจำนวนมากจะมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพเพราะสวนยางเสียหายยับเยิน พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำการเกษตรอะไรไม่ได้เลย เพราะมีดินโคลนและทรายทับถมหนาเป็นเมตรๆ ชาวบ้านเหล่านั้นจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร

ในภาพรวม ตนอยากให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างมีระบบ เหมือนกรณีเหตุการณ์น้ำป่าและภูเขาถล่มหมู่บ้านกะทูน อ.พิปูน ในปี 2531 ที่ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลืออย่างชัดเจน โดยเฉพาะพระมหากรุณาธิคุณของส มเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่พระราชทานโครงการบ้านจุฬาภรณ์ 1-3 มีการจัดสรรที่ทำกินให้กับผู้ประสบภัย ส่งเสริมอาชีพ ทำให้การช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” รองนายก อบจ.นครศรีธรรมราชกล่าว

ชาวบ้านล้อมจับ“ไอ้ยักษ์” จระเข้ยาวเกือบ 4 เมตร
ยันเป็นของเทศบาลนครนครศรีฯ

เมื่อเวลา 15.00 น.วานนี้ (19 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ม.1 ต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ว่ามีการล้อมจับจระเข้ขนาดใหญ่ 1 ตัวที่พบอยู่ในร่องสวนปาล์ม ข้างบ้านเลขที่ 408/2 ม.1 ต.ปากพูน อ.เมือง หลังจากนั้น จึงเข้าทำการตรวจสอบ พบว่า ชาวบ้านได้ช่วยกันจับเป็นไว้ได้แล้ว เป็นจระเข้ขนาดใหญ่ยาวประมาณเกือบ 4 เมตร น้ำหนักประมาณกว่า 300 กก.โดยถูกล่ามปากและเท้าไว้อย่างแน่นหนา

นายเสริม จรชู อายุ 59 ปี เจ้าของบ้าน เปิดเผยว่า ช่วงสายที่ผ่านมาได้เดินเข้าไปในสวนปาล์มเพื่อเตรียมปลูกปาล์มในร่อง แต่สังเกตเห็นว่า บนร่องปาล์มมีรอยเท้าสัตว์ขนาดใหญ่ จึงลองเดินตามรอยไปดู จึงพบจระเข้ตัวดังกล่าว เมื่อเห็นตนจระเข้จึงเดินลงไปในร่องคูสวนปาล์ม ตนจึงไปชวนเพื่อนบ้านรวม 5 คนมาช่วยกันจับตัว โดยใช้เชือกคล้องแต่ไม่สำเร็จ จึงใช้ตาข่าย 3ชั้น มาปิดดักหัวท้ายท้องร่องก่อนไล่จระเข้ให้ไปชนตาข่ายจากนั้นจึงใช้ตาข่ายคลุมไว้แล้วลากขึ้นมาบนตลิ่งจนจับมัดไว้ได้อย่างทุลักทุเลในที่สุด

ต่อมา นายวิโรจน์ พรรณราย ปลัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช พร้อมเจ้าหน้าที่สวนสัตว์เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้เข้าตรวจสอบจระเข้ดังกล่าว ได้แจ้งกับนายเสริม ว่าจระเข้ดังกล่าวนั้นเป็นของสวนสัตว์เทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีชื่อว่า “ไอ้ยักษ์” เนื่องจากมีขนาดใหญ่ประมาณถึง 4 เมตร โดยเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ยินดีที่จะจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ที่จับได้ตัวละ 5,000 บาท

อย่างไรก็ตาม นายเสริม ระบุว่า จระเข้ตัวนี้มีราคาสูงกว่า 5,000 บาทมาก คนที่จับกุมทั้ง 5 คนจะขอขายไปในราคาตัวละ 5 หมื่นบาท ซึ่ง นายวิโรจน์ บอกว่า ไม่สามารถจ่ายให้ในขณะนี้ได้ จะต้องปรึกษากับนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราชก่อน ในขณะที่ นายเสริม ระบุว่า จะดูแลจระเข้ตัวนี้ไว้ก่อนท่ามกลางชาวบ้านในย่านดังกล่าวมาดูเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีฯ เรียกประชุม
กก.ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเตรียมสรุปเสนอ คชอ.

นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงต่างๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 4 ทั้งนี้เพื่อร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ในช่วงระหว่างปลายเดือนมีนาคม - ต้นเดือนเมษายนที่ผ่าน โดยสถานการณ์อุทกภัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบและประชาชนได้รับความเดือดร้อนครอบคลุมทั้ง 23 อำเภอของจังหวัด สิ่งสาธารณประโยชน์ สาธารณูปโภค-สาธารณูปการได้รับเสียหายเป็นจำนวนมาก

สำหรับวันนี้ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในห้วงดังกล่าว รวม 9 ด้าน วงเงินงบประมาณ กว่า 100 ล้านบาท คือ ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย, ด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ด้านการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย, ด้านปศุสัตว์, ด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช, ด้านการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตาม การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบครัวละ 5,000 บาท

ความเสียหายของสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัย, ความเสียหายของถนนและสะพานในความรับผิดชอบของสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัด และด้านการจัดหาเวชภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ น้ำยาเคมีภัณฑ์ในการรักษาพยาบาลและการป้องกันควบคุมโรค โดยทันทีที่คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือ ก.ช.ภ.จ.นศ.ให้ความเห็นชอบ ข้อพิจารณาดังกล่าวทั้งหมดจะถูกนำเสนอไปยังคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ คชอ.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและจัดสรรเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น