xs
xsm
sm
md
lg

ไฟไหม้พรุบาเจาะยังโหม ลามสวนยาง-ปาล์มวอดเกือบ 500 ไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสนั่งหัวโต๊ะประชุมวางแผนการแก้ปัญหา
นราธิวาส - ไฟไหม้ป่าพรุบาเจาะยิ่งโหมลามหนัก สวนยางพาราและสวนปาล์ม วอดไปแล้วกว่า 450 ไร่ เหตุเพราะขาดแคลนน้ำ และลมแรงพัดสะเก็ดไฟไปติดพื้นที่อื่น

วันนี้ (4 มี.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุม สำนักงานนิคมสหกรณ์บาเจาะ บ้านฮูแตทูวอ หมู่ 4 ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส นายเดชรัฐ สิมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนายประดิษฐ์ ปิ่นกระจาย ผู้อำนวยการชลประทาน จ.นราธิวาส, นายไพโรจน์ พิธีรัตนานนท์ ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์บาเจาะ, นายมาหามะพีสกรี วาแม รักษาการหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส, นายธันว์ มุขตา นายช่างโยธาอาวุโส สำนักงานสหกรณ์ จ.นราธิวาส และผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางดับไฟไหม้ ที่กำลังโหมลุกลามไปติดวัชพืชในชั้นใต้ดิน ลึก 1 ถึง 5 เมตร ซึ่งทำให้สวนปาล์มและสวนยางพาราของสมาชิกนิคมสหกรณ์บาเจาะถูกไฟเผาไหม้ได้รับความเสียหายไปแล้ว 2 จุด รวมเนื้อที่กว่า 450 ไร่

นายไพโรจน์ พิธีรัตนานนท์ ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์บาเจาะ กล่าวว่า ป่าพรุบาเจาะมีเนื้อที่ทั้งหมด 87,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.เมืองนราธิวาส, อ.บาเจาะ, อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส และ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี โดยพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่ทางราชการได้จัดสรรให้เป็นที่ดินทำกินแก่ชาวบ้าน ด้วยการทำสวนปาล์ม และสวนยางพาราไปแล้ว 35,000 ไร่

ส่วนจุดที่เกิดไฟไหม้ขึ้นนั้นมี 2 จุด คือ พื้นที่ปลูกต้นปาล์ม บ้านบือราเป๊ะ หมู่ 3 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส สวนปาล์มถูกไฟเผาเสียหายไปแล้ว 50 ไร่ และพื้นที่ปลูกต้นปาล์มสลับกับต้นยางพาราที่บ้านบากง หมู่ 6 ต.ลูโบ๊ะสาวอ อ.บาเจาะ ซึ่งทั้ง 2 จุดนี้สวนปาล์มและสวนยางพาราถูกไฟไหม้เสียหายมากถึงกว่า 400 ไร่แล้ว ทั้งนี้ เพราะระดับน้ำในพื้นที่ป่าพรุบาเจาะแห้งขอด จึงไม่มีน้ำเพียงพอที่จะใช้ในการดับไฟ ประกอบกับมีลมพัดแรงจึงยิ่งทำให้ไฟไหม้กองวัชพืชในชั้นใต้ดินของพื้นที่ป่าพรุ จากจุดเล็กๆ เมื่อหลายวันก่อน ยิ่งขยายวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว

ด้าน นายประดิษฐ์ ปิ่นกระจาย ผู้อำนวยการชลประทาน จ.นราธิวาส กล่าวถึงสาเหตุที่เป็นปัจจัยให้ระดับน้ำในผืนป่าพรุบาเจาะแห้งขอด และเกิดเหตุไฟไหม้ในชั้นใต้ดินในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ว่า ระบบชลประทานเดิมในผืนป่าพรุบาเจาะ ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นระบบระบายน้ำ ไม่มีน้ำต้นทุนจึงทำให้เกิดภาวะน้ำแห้งขอดในช่วงหน้าแล้งของทุกปี และว่าแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น ต้องตั้งสถานีสูบน้ำจากคลองยะกังเข้ามาเติมในคลองระบายน้ำดังกล่าวให้เต็ม จึงจะสามารถดับไฟที่กำลังโหมลุกไหม้ให้ดับมอดลงได้





กำลังโหลดความคิดเห็น