xs
xsm
sm
md
lg

ชาวระโนดหวั่นอุตฯเหล็กต้นน้ำทำลายวิถีชีวิตคนพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวระโนด ห่วงอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ทำลายวิถีอาชีพเกษตรกร และทำลายสิ่งแวดล้อม หลังโครงการเดินหน้าประชุมเงียบกลุ่มสนับสนุน ไร้การประชาสัมพันธ์ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่รับทราบ

วันนี้ (24 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังพื้นที่ ต.ท่าบอน อ.ระโนด จ.สงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการเหล็กต้นน้ำ ของทางสถาบันเหล็ก และเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ใช้พื้นที่มากกว่า 5,000 ไร่ ในพื้นที่บนฝั่ง โดยใช้พื้นที่ติดถนนเรียบทะเลสาย 408 เป็นแนวทางฝั่งทิศตะวันออก เริ่มตั้งแต่บ้านขี้นากไปจนถึงคลองท่าเข็น โดยพื้นที่ในการตั้งโครงการอยู่ใน 4 หมู่บ้าน คือ ม.4 บ้านศาลาหลวงบน ม.5 บ้านหัวคุ้ง ม.7 บ้านขี้นาก และ ม.9 บ้านมากบัว ทั้งยังใช้พื้นที่ในทะเลที่จะถมทะเลเป็นพื้นที่กว่า 2 ตารางกิโลเมตร และทำสะพานเชื่อมจากชายฝั่งพร้อมท่าเรือห่างชายฝั่ง 10 กม.เพื่อเป็นจุดรับวัตถุดิบ

โดยโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่ไปบ้างแล้ว ในรูปแบบของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้คัดเลือกเอาตัวแทนประชาชนในพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ในเขตพื้นที่การดำเนินโครงการเข้ามาร่วมประชุม แต่ก็ยังคงเป็นประชาชนในกลุ่มเล็กๆ หรือกลุ่มจัดตั้งจากผู้นำชุมชนที่สนับสนุนโครงการที่เข้ามาร่วมประชุม แต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์กับประชาชนหมู่มากในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงหากโครงการเหล็กต้นน้ำและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นในพื้นที่

นายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลาในฐานะชาวบ้านในพื้นที่ ต.ท่าบอน กล่าวถึงโครงการนี้ ว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องและเข้าใจในโครงการดังกล่าว เพราะไม่มีการประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านเลย การประชุมของทางโครงการ 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง จะมีแต่ชาวบ้านที่ได้รับการจัดตั้งจากกลุ่มผู้นำชุมชนที่สนับสนุนโครงการเท่านั้นที่ได้เข้าไปประชุม โดยทางโครงการก็พยายามให้แต่ข้อมูลด้านดีของตัวโครงการเพียงอย่างเดียว ไม่ระบุถึงผลเสียและผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะทุกโครงการลักษณะนี้หากเกิดขึ้นย่อมมีทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งการพยายามดังกล่าวเหมือนทางโครงการพยายามที่จะดำเนินการอย่างรวบลัดขั้นตอน

“ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ ไม่เห็นด้วยกับการเกิดขึ้นของโครงการ แต่ตามแผนจริงๆ ของโครงการที่เคยพิจารณาสถานที่ในการตั้งโครงการ 10 แห่งก็ไม่มี อ.ระโนด แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า มาเลือกพื้นที่ ต.ท่าบอน อ.ระโนดได้อย่างไร หากโครงการนี้ดีจริง สามารถที่จะตั้งขึ้นที่ใดก็ได้ ชาวบ้านในพื้นที่เหล่านั้นก็ต้องอย่างได้ แต่นี้เปลี่ยนมาหลายที่แล้ว เพราะชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ ไม่เอาด้วย จึงหวังที่จะมาใช้พื้นที่นี้แทน

นายกาจบัณฑิต กล่าวอีกว่า อ.ระโนด เป็นเมืองเกษตรกรรม หากโครงการนี้เกิดขึ้น วิถีเกษตรกรรมของชาวบ้านในพื้นที่ต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปตามอุตสาหกรรมที่เข้ามา อาชีพดังเดิมของชาวบ้าน การทำนาข้าว การเลี้ยงกุ้ง การทำประมง ต้องได้รับผลกระทบมลพิษที่เกิดขึ้นจากโครงการอย่างแน่นอน อาชีพดังเดิมเหล่านี้ต้องสู่หายไปจากชุมชน เพราะโครงการเข้ามาทำลายสิ่งแวดล้อมจนประชาชนไม่สามารถประกอบอาชีพได้

“ที่สำคัญ ปัญหาเรื่องน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ สุขภาพของประชาชนในพื้นที่ แน่นอนการปล่อยมลพิษย่อมกระทบต่อแหล่งน้ำในพื้นที่ อาชีพหลักของชาวบ้านอย่าง กลุ่มเกษตรกรทำนาข้าว เมื่อโรงงานสูบน้ำเค็มเข้ามามากแหล่งน้ำธรรมชาติจะมีความเค็มเพิ่มขึ้นก็ทำนาไม่ได้ กลุ่มเลี้ยงกุ้ง หากน้ำมีมลพิษจากโรงงาน กุ้งที่เลี้ยงก็ต้องย่อมได้รับมลพิษและสารปนเปือนเข้าไปด้วย ส่งผลกระทบอย่างแน่นอนกับการส่งออกกุ้งไทย และอีกอาชีพคือกลุ่มประมงพื้นบ้านที่ปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบกับน้ำมันแพงอยู่แล้ว หากโรงงานถมทะเลตั้งโรงงานสารปนเปือนก็ลงสู่ทะเล ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ก็หนีไปอยู่ที่อื่นหมด ประมงพื้นที่ก็ต้องออกไปหาปลาไกลขึ้น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย คงไม่มีใครทนประกอบอาชีพต่อไปได้ เพราะออกไปจับปลาเอามาขายก็ไม่คุ้มทุน หากโครงการเกิดขึ้น 3 อาชีพหลักของชาวบ้าน นาข้าว นากุ้ง และประมงพื้นบ้าน ก็ต้องสูญหายไปจากวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างแน่นอน”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านถึงโครงการดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่ ไม่มีใครกล้าที่จะให้ข้อมูล เนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลจากผู้นำในชุมชนรายหนึ่ง ที่มีอิทธิพลมากในพื้นที่อยู่ฝ่ายสนับสนุนโครง และในการประชุมสาธารณะโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นแต่ละครั้ง ชาวบ้านที่ได้เข้าร่วมการประชุม จะเป็นกลุ่มจัดตั้งที่ผู้นำชุมชนรายดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเข้าร่วมประชุม และมีเงินค่าประชุมให้ผู้เข้าร่วมประชุมจัดตั้ง

โดยการประชุมสาธารณะโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นได้มีขึ้นผ่านมา 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 53 ที่โรงเรียนมาบบัว ต.ท่าบอน อ.ระโนด จ.สงขลา มีผู้เข้าร่วม 229 ราย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ต.ค.53 ที่โรงเรียนตะเครียะวิทยา ต.ท่าบอน อ.ระโนด จ.สงขลามีผู้เข้าร่วม 209 ราย และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 ต.ค.53 ที่โรงแรมสงขลาพาเลซ อ.เมือง จ.สงขลา โดยการประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมในวงเล็กเพียง 21 คน โดยมีสื่อมวลชนท้องถิ่น 14 ราย อาจารย์สถาบันอุดมศึกษา 3 และภาคประชาชน 3 ราย และประชาชนทั่วไป 1 ราย เข้าร่วมประชุม

กำลังโหลดความคิดเห็น