xs
xsm
sm
md
lg

สกย.ตรังห้ามชาวสวนปลูกยางในที่นาร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนห้ามปลูกยางพื้นที่นาหวั่นเกิดปัญหา
ตรัง - สกย.ตรัง เตือนเกษตรกรอย่าปลูกยางพาราในที่ราบลุ่มหรือนาร้าง เกรงจะเกิดปัญหาขึ้นได้ในอนาคต เนื่องจากเจริญเติบโตได้ดีแค่เพียง 3 ปีแรก พร้อมระบุยังเหลือพื้นที่สำหรับนำไปปลูกยางพาราน้อยลงเต็มทีแล้ว และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

นายพิศาล จันทร์เจิดศักดิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จังหวัดตรัง กล่าวว่า จากการที่ราคายางพาราตลอดทั้งปี 2553 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องปี 2554 ได้ขยับตัวสูงขึ้นอย่างมากจนถึงกิโลกรัมละกว่า 150 บาท เมื่อเร็วๆ นี้ ทำเกษตรกรมีความสนใจอยากปลูกยางพารากันมาก ประกอบกับทางรัฐบาลได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราสำหรับผู้ที่ไม่เคยมีสวนยางพารามาก่อน รวมจำนวน 800,000 ไร่ ทั่วทั้งประเทศ ในช่วงระหว่างปี 2554-2556

ทั้งนี้ เกษตรกรที่สามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะต้องมีที่ดินเป็นของตนเอง หรือมีหลักฐานการครอบครองที่ดินเนื้อที่ตั้งแต่ 2-15 ไร่ขึ้นไป โดยทาง สกย. จะสนับสนุนในลักษณะของปัจจัยการผลิต เช่น ต้นพันธุ์ ปุ๋ย อัตราไร่ละ 3,529 บาท ในปี 1-3 แต่ในปีที่ 4-7 เกษตรกรจะต้องลงทุนเอง ทำให้ขณะนี้มีชาวตรังสนใจติดต่อเข้ามามากมาย แต่เนื่องจากจังหวัดตรังได้รับการจัดสรรโครงการมาแค่ 450 ไร่ อย่างไรก็ตามยังสามารถเพิ่มพื้นที่ได้อีก และอาจเฉลี่ยตัวเลขมาจากบางจังหวัดหรือบางภาคเข้ามา

จากข้อมูลของทาง สกย.พบว่า ขณะนี้จังหวัดตรัง มีพื้นที่ปลูกยางพาราแล้ว 1.6 ล้านไร่ หรือประมาณ 80 % ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด โดยเป็นพื้นที่ใหม่ในช่วงปี 2553 ที่ผ่านมา ประมาณ 200,000 ไร่ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ในอัตราที่น้อย และจะค่อยลดน้อยลงเรื่อยๆ ในอนาคตเนื่องจากจังหวัดตรังเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่ได้มีปลูกยางพารา มาเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ส่วนพื้นที่ที่เหลือทาง สกย.ก็ไม่อยากจะไปส่งเสริม เพราะเป็นที่ราบลุ่ม หรือนาร้าง เกรงจะเกิดปัญหาขึ้นได้ในอนาคต

ปัจจุบัน จังหวัดตรังมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 50,000 ไร่ ซึ่งอยู่ในที่ราบลุ่มที่นาร้าง หรือที่ไม่เหมาะสม แต่เกษตรกรบางส่วนก็พยายามที่จะฝืนปลูกยางพารา ทำให้ต้องดูแลเอาใจใส่มากขึ้น เนื่องจากมักจะมีปัญหาน้ำขัง โดยต้นยางพาราอาจเติบโตได้ดีในช่วง 2-3 ปีแรก แต่หลังจากนั้นก็จะเริ่มชะงักเมื่อรากไปเจอน้ำเข้า ยกเว้นในพื้นที่ที่ปลูกปาล์มน้ำมันเดิมแต่มีอายุมากแล้ว หรือเป็นพื้นที่ที่ปลูกไม้ผลแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เกษตรกรก็อาจจะเปลี่ยนมาปลูกยางพาราแทนได้ แต่คงเหลือพื้นที่ในลักษณะเช่นนี้อีกน้อยมากแล้ว
ต้นยางที่ปลูกในที่นาร้าง มีน้ำท่วมขังจะเจริญเติบโตได้ดีแต่ช่วงแรกเท่านั้น



กำลังโหลดความคิดเห็น