ตรัง - โรคปากเท้าเปื่อยในโคระบาดอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่เมืองตรัง เผยพบแล้วกว่า 150 ตัว ชี้สาเหตุมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน หนาวบ้างร้อนบ้าง และมีฝนตกด้วย จึงทำให้สัตว์มีความเครียด และภูมิต้านทานต่ำ
วันนี้ (8 ก.พ.) นายชาคริต ช่วยบำรุง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.เขากอบ และในพื้นที่ อ.ห้วยยอด เช่น ต.บางดี ต.หนองช้างแล่น ต.ปากคม ต.นาวง ซึ่งมีการเลี้ยงโค กระบือ ซึ่งขณะนี้กำลังประสบกับปัญหาเกิดโรคปากเท้าเปื่อยในโคขึ้น ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้สัตว์มีภูมิต้านทานต่ำ จึงส่งผลต่อการเกิดการแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยอย่างรุนแรง
โดย อบต.เขากอบ ได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่ นับตั้งแต่เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากรับแจ้ง ตนจึงได้รีบดำเนินการจัดซื้อเครื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่มีความจำเป็นในการรักษา และป้องกันโรคโดยทันที เช่น ยาปฏิชีวนะ 60 ขวด วิตามินบี 60 ขวด สเปรย์หรือยาฉีดพ่นเท้า 50 ขวด เข็มฉีดยาชนิด 10 ซีซี. 100 ชุด และเข็มฉีดยาชนิด 20 ซีซี. 100 ชุด โดยใช้งบประมาณทั้งหมด 50,000 บาท
ทั้งนี้เมื่อได้เวชภัณฑ์มาครบแล้ว ก็ได้ดำเนินการให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ผ่านการฝึกอบรม เป็นผู้ลงไปทำหน้าที่ในการตรวจรักษาโรคในโคดังกล่าว ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้รับแจ้งจากเจ้าของโคที่เป็นโรคปากเท้าเปื่อยแล้วประมาณ 150 ตัว จากจำนวนโคที่ประชาชนในพื้นที่ ต.เขากอบเลี้ยงทั้งหมดกว่า 200 ตัว ดังนั้น ทาง อบต.จึงให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลหรือตรวจรักษาทั้งหมด รวมทั้งยังให้คำปรึกษาแก่ประชาชนเจ้าของโคที่เป็นโรคดังกล่าว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไปสู่โคตัวอื่นๆ ในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม สำหรับโรคปากเท้าเปื่อยในโคนั้น ขณะนี้พบว่ากำลังระบาดในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนสาเหตุนั้นเกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ตอนกลางคืนถึงเช้าอากาศอาจหนาวเย็น ตอนสายอากาศร้อนจัด และบางวันยังเกิดฝนตกด้วย ดังนั้นด้วยสภาพอากาศแบบนี้จึงทำให้สัตว์มีอาการเครียดภูมิคุ้มกันลดลง และป่วยในที่สุด อีกทั้งมีอาการซึมเศร้า ไข้สูง มีแผลที่ลิ้น เหงือก ไม่ยอมกินอาหารจนร่างกายเริ่มซูบผอม มีน้ำลายไหลตลอดเวลา บริเวณจมูก กีบเท้าเป็นแผลและมีเลือดไหล น้ำลายยืด กินอาหารได้น้อยลง หรือไม่กินอาหารเลย
นอกจากนั้น โคที่ป่วยด้วยโรคปากเท้าเปื่อยยังสามารถติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วทั้งทางน้ำลาย และลมหายใจ บางตัวอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดจนตายได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ให้คำแนะนำรีบจับแยกสัตว์ออกจากฝูงทันที จากนั้นจะใช้ยาฆ่าเชื้อโรคฉีดพ่นที่กีบเท้าของสัตว์ และบริเวณคอกเลี้ยง ตลอดจนฉีดยาบำรุงรวมทั้งให้เจ้าของสัตว์ผสมวิตามินรวมลงไปในอาหาร เพื่อกระตุ้นให้สัตว์กินอาหารได้มากขึ้น และหลับสบาย