ยะลา - ภาคประชาชน ผู้นำศาสนา วอนรัฐเร่งเข้าไปดูแลนักศึกษาไทยในประเทศอียิปต์ หวั่นลูกหลานได้รับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วง
จากสถานการณ์การประท้วงขับไล่ ประธานาธิบดี บอสนี มูบารัค แห่งอียิปต์ ยังคงตึงเครียดหนัก ล่าสุด รัฐบาลได้เรียกร้องขอให้ผู้ประท้วงเชื่อฟัง และปฏิบัติตามหลังจากที่ได้ประกาศเคอร์ฟิว และ สถานการณ์การประท้วงที่ลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ต่างชาติ และบรรดานักธุรกิจต่างชาติเริ่มอพยพหนีภัยออกนอกประเทศกันแล้ว โดยรัฐบาล สหรัฐฯ แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี และ เนเธอร์แลนด์ ได้อออกคำแนะนำ ให้ประชาชนเดินทางออกจากอียิปต์ทันที
ส่วนสถานทูตสหรัฐในกรุงไคโรห์ ก็กำลังจัดเตรียมเครื่องบินเช่าเหมาลำเพื่อขนย้ายชาวสหรัฐฯออกจากอียิปต์ ซึ่งจะเริ่มการขนย้ายในวันนี้ เช่นเดียวกับทางด้านแคนาดา ก็จะนำเครื่องบินมาอพยพประชาชนของตัวเองออกจากอียิปต์ในวันนี้เช่นกัน เช่นเดียวกับประเทศไทย ผู้ปกครอง และญาติพี่น้องของนักศึกษา และคนไทยที่ไปประกอบอาชีพในอียิปต์ ต่างเป็นห่วงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกรงว่า จะส่งผลกระทบต่อคนไทย ในอียิปต์
นายอับดุลอาซีส ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประท้วงน่าจะยังไม่จบ เพราะทางรัฐบาลไม่ยินยอม สืบเนื่องจากการปฏิวัติ ในประเทศตูนิเซีย ซึ่งในอียิปต์เอง ประธานาธิบดี บอสนี มูบารัก แห่งอียิปต์ ปกครองอียิปต์มาแล้วกว่า 30 ปี ซึ่งถือว่ายาวนานมาก และประชาชนเองก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วโลกในสภาวะปัจจุบัน เกิดการเรียกร้องขอความเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น ถ้ามองการเรียกร้องแล้วก็เป็นสิ่งที่ดี
สำหรับการชุมนุมประท้วงในอียิปต์ในครั้งนี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อนักเรียนไทย ที่อยู่ในอียิปต์ เกือบ 3,000 คน ซึ่งเป็นนักเรียนจากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนหลายร้อยคน ไปศึกษาต่อด้านศาสนา เป็นส่วนใหญ่ ตนเองอยากจะขอให้ทางรัฐบาล หรือกระทรวงต่างประเทศ ช่วยกันดูแลนักเรียนไทย เพราะผู้ปกครอง และญาติพี่น้อง เป็นห่วงมาก เพราะไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ ซึ่งตนเองมองว่าเหตุการณ์น่าจะบานปลายมากขึ้น สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งตนเองอยากจะให้ทางรัฐบาลนำนักเรียนไทยกลับมาเมืองไทยก่อน โดยให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเครื่องบิน
นายนิมุ มะกาเจ ประธานเสริมสร้างสังคมสันติสุขจังหวัดยะลา และอดีตประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา กล่าวว่า เมื่อปี 52 ที่ผ่านมาตนเองได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนนักศึกษาไทย ที่อยู่อียิปต์ ในโครงการ MOU ของสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งตนเองได้พบปะกับนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ซึ่งนักศึกษาไทย มีการอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน และก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่มีสัญลักษณ์ของประเทศไทยอยู่ในอียิปต์ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดจาราจลที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นั้น ทางรัฐบาลไทย ต้องมีส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล และผู้ที่ไปท่องเที่ยวที่อียิปต์ ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล จากสถานทูต หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ด้วยเช่นกัน ซึ่งในขณะนี้สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดต่อ นักศึกษาไทย หรือผู้ที่อยู่ในอียิปต์ คือการเข้าไปพบปะเยี่ยมเยียน จากผู้ที่มีอำนาจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพราะนักศึกษาไทย ที่ไปเรียนที่อียิปต์ส่วนหนึ่งก็มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อจบกลับมาแล้วก็จะกลับมาพัฒนาพื้นที่