xs
xsm
sm
md
lg

โวยจบ ม.6 แต่สมัครสอบมหาวิทยาลัยไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ตัวแทนครูผู้ปกครองและนักเรียน โรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ ร้อง สนง.เขตพื้นที่ประถมศึกษาตรัง หลังจากเรียนจบ ม.6 แล้ว แต่ไม่สามารถสมัครสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดังในภาคใต้ได้

วันนี้ (20 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ตรัง เขต 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง อาจารย์อนันต์ วิเศษศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พร้อมด้วย นางสุภา วรรณา อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 37/1 หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และนางสาวปนัสยา วรรณา นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ปกครอง และตัวแทนนักเรียนระดับชั้น ม.6 จากโรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ ได้เดินทางเข้าพบ นางชุลีกร ยิ้มสุด รองผู้อำนวยการ สพป.ตรัง เขต 2 เพื่อขอคำชี้แจงแทนเพื่อนๆ และผู้ปกครอง หลังจากนักเรียนระดับชั้น ม.6 รุ่นแรกของโรงเรียน 8 คนจากทั้งหมด 24 คน ซึ่งมีกำหนดจะจบการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) รุ่นแรก ในปีการศึกษา 2553 นี้

อย่างไรก็ตาม หลังจากนักเรียนกลุ่มดังกล่าวได้ดำเนินการกรอกใบสมัครผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา กับมหาวิทยาลัยทักษิณ สถานศึกษาชื่อดังของภาคใต้ แต่ปรากฏว่าเมื่อทางมหาวิทยาลัยประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ กลับไม่มีรายชื่อของนักเรียนจากโรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ ทั้ง 8 คนและเมื่อสอบถามเหตุผลเบื้องต้นกับมหาวิทยาลัยทักษิณว่า ทำไมนักเรียนกลุ่มนี้จึงไม่มีรายชื่อผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ ก็ได้รับคำตอบเบื้องต้นว่า โรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ ไม่มีรายชื่ออยู่ในสารระบบข้อมูลของมหาวิทยาลัย จึงทำให้นักเรียนทั้ง 8 คน รวมทั้งเพื่อนร่วมห้อง ผู้ปกครอง และทางโรงเรียน ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และทำไมนักเรียนกลุ่มนี้จึงไม่มีสิทธิสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา จึงเดินทางเข้าขอคำชี้แจงจากทาง สพป.ตรัง เขต 2

น.ส.ปนัสยา วรรณา หรือน้องปุ้ม ซึ่งเป็นตัวแทนของนักเรียนชั้น ม.6 ทั้ง 24 คน ของโรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ กล่าวว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ตนพร้อมเพื่อนร่วมห้องทั้ง 8 คน ได้สมัครสอบผ่านระบบออนไลน์ เพื่อต้องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ แต่เมื่อทางมหาวิทยาลัยประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ออกมา ปรากฏว่าไม่ชื่อตนและชื่อเพื่อนๆ ทั้ง 8 คน หลังจากนั้น เพื่อนกลุ่มเดียวกัน 5 คน ยังได้เดินทางไปสมัครเพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ก็ได้รับการปฏิเสธโดยระบบออนไลน์เช่นเดียวกัน และเมื่อสอบถามสาเหตุก็ได้รับคำตอบในลักษณะเดียวกันว่าชื่อของโรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะไม่อยู่ในสารระบบข้อมูลของทางมหาวิทยาลัย

น้องปุ้มกล่าวอีกว่า ตนเองเรียนสายวิทย์-คณิต ได้เกรดเฉลี่ย 3.6 ซึ่งก็น่าจะผ่านเกณฑ์มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ได้ แต่เมื่อมาปรากฏเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ทำให้ตนและเพื่อนๆ ทั้ง 8 คนหมดสิทธิ และเสียโอกาสที่จะสอบเข้ายังมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งในรอบแรกไปเลย ซึ่งโรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ เองก็ไม่ทราบเหตุผลเช่นกัน เพราะทางโรงเรียนได้รับสิทธิพิเศษ ให้เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา จากชั้น ม.3 เดิมไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6) ตั้งแต่เมื่อปีการศึกษา 2551 ซึ่งตนและเพื่อนรวม 24 คน เป็นรุ่นแรกที่กำลังจะจบการศึกษาในปี 2553 นี้ โดยที่ผ่านมาระหว่างที่ศึกษา ทางโรงเรียนก็ได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายหัวจากกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด แต่พอจะเรียนจบแล้วไม่สามารถสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ จึงจำเป็นต้องเดินทางมาพร้อมกับอาจารย์ เพื่อขอคำตอบจากทาง สพป.ตรัง เขต 2

นางชุลีกร ยิ้มสุด รองผู้อำนวยการ สพป.ตรัง เขต 2 กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่กลุ่มนักเรียนได้ไปสมัครสอบตรงในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยทักษิณ แต่ต่อมาทางมหาวิทยาลัยแจ้งว่าไม่มีรายชื่อโรงเรียนอยู่ในระบบ จึงได้เชิญตัวแทนครู ผู้ปกครอง และนักเรียนที่ได้รับผลกระทบมาตรวจสอบข้อมูลที่สำนักงานเขตพื้นที่ฯ จากนั้น ก็ได้ติดต่อไปยังสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรุงเทพฯ เพื่อขอทราบว่า มีค่า GPA ค่า CAT หรือค่า PAT ของนักเรียนเหล่านี้อยู่ในระบบหรือไม่ หรือมีชื่อนักเรียนอยู่ในระบบหรือไม่

โดยผลจากการตรวจสอบพบว่า มีรายละเอียดอยู่ในระบบ สพฐ. และทางมหาวิทยาลัยสามารถที่จะดึงข้อมูลดังกล่าวไปใช้ได้ทันที แต่เมื่อสอบถามไปยังมหาวิทยาลัยทักษิณได้รับคำชี้แจงว่า การที่กลุ่มนักเรียนไม่มีรายชื่อ หรือไม่มีสิทธิสอบ อาจจะเกิดจากขั้นตอนการสมัคร เช่น กรณีที่มีการสมัครออนไลน์ไม่แล้วเสร็จ หรือมีการส่งหลักฐานไปไม่ครบ เพราะการสมัครออนไลน์ที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์นั้น นักเรียนจะต้องไปจ่ายเงินที่ธนาคารไทยพาณิชย์ แล้วส่งหลักฐานทั้งหมดไปยังทางมหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนี้สำนักงาน สพป.ตรัง เขต 2 ก็ยังไม่สามารถตรวจสอบกับทางมหาวิทยาลัยได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใดกันแน่

ทั้งนี้ โรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะได้เปิดทำการเรียนการสอนในชั้น ม.4-ม.6 มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย และได้รายงานให้ สพฐ.รับทราบตามระเบียบขั้นตอนมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน ทางโรงเรียนก็ยังได้รับเงินอุดหนุนรายหัว ตามอัตราที่ สพฐ.จ่ายมาให้ รวมทั้งยังมีการส่งเกรดเฉลี่ย และผลการเรียนของนักเรียน ไปให้ สพฐ.ถูกต้องทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นโรงเรียนที่มิได้อยู่ในระบบการศึกษาแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงาน สพป.ตรัง เขต 2 จะเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาทางช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนที่ได้รับผลกระทบต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น