xs
xsm
sm
md
lg

มหาวิทยาลัยไม่ใช่ศูนย์การค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายคนเชื่อว่า การเข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นบันไดก้าวแรกที่นำไปสู่การเริ่มต้นชีวิตที่ดี มีคุณภาพในอนาคต แม้ว่ามหาวิทยาลัยชื่อดังทั้งหลายจะมีต้นทุนการศึกษาที่สูงขนาดไหน ผู้ปกครองก็พยายามหาเงินมาส่งเสียจนได้ กลับกลายเป็นค่านิยมหนึ่งที่แฝงเข้ามาในสังคมทุนนิยม เมื่อในวันนี้มหาวิทยาลัยกลายเป็นศูนย์การค้า

สังคมในโลกทุนนิยม มองไปทางไหนก็มีแต่ เงิน เงิน เงิน ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต จึงไม่ผิดที่หลายคนจะพยายามหาวิธีการต่างๆเพื่อให้ได้เงินมาอย่างชอบธรรม เมื่อเงินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบของมหาวิทยาลัย คนที่ต้องการเข้ามาศึกษาจึงต้องมีความพร้อมที่จะจ่าย โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยชื่อดังไม่ว่าจะเป็นทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชนก็ตาม นอกจากจะต้องลงทุนค่าเล่าเรียนแล้วทุนอื่นยังแฝงมา ตามค่านิยมของสังคมมหาวิทยาลัย

ผู้ปกครองต่างพึงพอใจเมื่อลูกหลานสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังได้ ก็เพราะแรงกดดันของสังคมได้มีอำนาจจนสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อมหาวิทยาลัย เมื่อนักศึกษาขับรถหรูราคาแพง ใช้กระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อดัง หรือแม้แต่ชุดนักศึกษาที่ใส่ตามแฟชั่นไม่ตกเทรนด์ จากค่านิยมเหล่านี้ได้ซึมซับฝังอยู่ในความคิดด้วยความเชื่อที่ว่า มหาวิทยาลัยชื่อดัง จะสามารถยกระดับตนเองในสังคม และเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของตนให้ดูดีขึ้น ดูมีฐานะทางสังคม

ปัจจุบันนี้คนให้ความสนใจกับการแสดงภาพลักษณ์และบทบาทของตนเองสู่สังคม หลายคนจึงรู้สึกภูมิใจที่สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดังได้ แต่ความสนใจที่จะเข้าไปศึกษาหาความรู้อย่างจริงจังกลับเป็นอันดับรองลงมา สิ่งหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้ให้แก่มหาวิทยาลัยคือการสร้างแบรนด์ค่านิยมหรู ราคาแพงได้เกิดขึ้นต่อภาพลักษณ์องค์กร เหมือนเรือใหญ่ล่องอยู่ในมหาสมุทรที่มีน้ำเชี่ยวกราก ซึ่งเป็นการแข่งขันในระบบการศึกษาจึงกลายเป็นธุรกิจการค้า ที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ โดยผ่านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์องค์กร และมองนักศึกษาเสมือนเป็นลูกค้าคนหนึ่งในระบบธุรกิจการศึกษา แล้วการวางมาตรฐานการศึกษาล่ะได้จัดอยู่ในระบบบ้างหรือไม่?

เมื่อทีมงาน M-lite ได้มีโอกาสเข้าฟังการประชุมทางวิชาการเรื่อง “บทบาทของสภามหาวิทยาลัยในการพัฒนาอุดมศึกษาของชาติ” จัดโดยสมาคมสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (สสมท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งมีนักวิชาการและผู้ที่มีบทบาทในการพัฒนาระบอบการศึกษาหลายท่าน ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ที่เกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานอุดมศึกษาในปัจจุบัน

นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่ามหาวิทยาลัยต้องยอมรับความจริงว่าสังคมจับตามองในการผลิตบัณฑิตในลักษณะจ่ายครบจบแน่ โดยต้องแก้ไขค่านิยมที่ทุกคนมุ่งให้ได้ปริญญาบัตรโดยไม่สนใจเรื่องการเรียน

“ผมเชื่อว่าทุกวันนี้นอกจากสังคมจะคาดหวังให้มหาวิทยาลัยสร้างองค์ความรู้ สร้างบุคลากรผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ แก้ไขปัญหา และให้แสงสว่างแก่สังคมในยามที่ไม่มีทางออก แต่ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยตกเป็นจำเลยของสังคมในหลายเรื่อง เช่น ปัญหาคุณภาพในภาพรวมของบัณฑิตที่ผลิตออกมาแล้วไม่มีศักยภาพเพียงพอ การผลิตบัณฑิตไม่ตรงตามสาขาอาชีพ ในขณะที่บางสาขาผลิตบัณฑิตจนล้นประเทศ เช่น ด้านสังคมศาสตร์ หรือบางแห่งเปิดสาขามาโดยที่ไม่มีตลาดรองรับ” นายไชยยศ กล่าว

ชี้ให้เห็นว่ามาตรฐานการศึกษาไทยยังมีศักยภาพไม่เพียงพอที่จะพัฒนาบัณฑิตที่มีคุณภาพได้ การแก้ไขในเรื่องนี้ยังคงต้องดำเนินต่อไป และสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการที่มหาวิทยาลัยมุ่งสร้างผลกำไรให้แก่ตัวและพวกพ้องมากกว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของชาติ การมองนักศึกษาเป็นลูกค้าแบบ “จ่ายครบจบแน่” นั้น เป็นการเปรียบมหาวิทยาลัยไม่ต่างอะไรกับศูนย์การค้าที่มีนักศึกษาเป็นลูกค้าเข้ามาซื้อ-เลือกหาวิชาความรู้กลับไป จะมีคุณภาพหรือไม่นั้นต้องกลับมาย้อนมองศูนย์การค้าของตัวเองอีกครั้ง


“มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ ศูนย์การค้า นักศึกษา ไม่ใช่ ลูกค้าของมหา’ลัย”

กำลังโหลดความคิดเห็น