xs
xsm
sm
md
lg

รมช.ศธ.ห่วงออก กม.คุมเหล้าต้องรอบคอบ หวังเยาวชนเป็นแกนหลักนำร่องแก้ไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไชยยศ” ชี้ ก่อนออก กม.คุมเหล้าต้องรอบคอบ หวังพึ่งเครือข่ายเยาวชนร่วมแก้ไข “นักวิชาการ” แนะเข้มงวดการออกใบอนุญาต “รองเลขาฯ ป.ป.ท.” เผย ก.ยุติธรรม คลอดทีมเฉพาะกิจเอาผิดจนท.เรียกรับเงิน ด้าน “นศ.มหาลัยชื่อดัง” แฉร้านเหล้าปั๊มกลยุทธ์ลดแลกแจกแถมล่อใจ

วันนี้ (24 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในเวทีเสวนา “เสนอมาตรการด้านนโยบาย กรณีควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษา” ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายรองอธิการบดีมหาวิทยาลัย จับมือเครือข่ายนักศึกษา กว่า 15 สถาบันทั่วประเทศ ร่วมสัมมนามาตรการจัดการคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษา (โซนนิง) เพื่อนำร่องการดำเนินมาตรการโซนนิงของสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นแบบอย่างสู่สถาบันอื่น และผลักดันมาตรการนี้ให้ออกมาเป็นกฎหมายโดยเร็ว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายบริเวณรอบรั้วการศึกษาที่ผ่านมา มีข้อเสนอหลายอย่าง ในแง่ของกระบวนการมีทั้งทำได้และทำไมได้ หลายคนอยากเสนอแต่ขาดการรู้จริง หรือไม่รู้แต่ชี้นำ เป็นต้น ในบางครั้งกฎหมายคลอดออกมาแล้วมีช่องโหว่ มีข้อยกเว้น การแก้ไขก็ทำได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นในกระบวนการการออกกฎหมายจึงต้องมองหลายมุม

“ผมเห็นข้อเสนอหลายอย่าง ผมมองว่า สังคมมีคนอยู่ 2 แบบ ส่วนใหญ่คือไม่รู้จริง แล้วคิดว่าตัวเองรู้เยอะ อีกพวกคือไม่รู้แต่พยายามจะชี้ บางครั้งออกกฎหมายควบคุมร้านเหล้ามา แต่ก็ยังมีข้อยกเว้น ประเภทที่ว่าร้านใหม่ไม่เพิ่ม ร้านเดิมรักษากฎหมาย เพราะฉะนั้นฝากทุกฝ่ายว่าเวลาที่จะออกอะไรบางครั้งในกระบวนการอาจต้องมองหลายๆ มุม และกระบวนการก็ต้องป้องกันไว้ บางทีตัวกฎหมายจะเขียนรวมๆ ไว้ก็จะลำบาก เช่น ที่ผ่านมา มีการให้ฝ่ายปกครองมาตกลงกับตัวแทนมหาวิทยาลัย แต่ในที่สุดพบว่าตัวแทนมหาวิทยาลัยมีเสียงข้างน้อย แล้วมันก็จะเกิดข้อยกเว้น ในที่สุดผลการบังคับใช้กฎหมายก็จะไม่เกิดขึ้น” รมช.ศธ.กล่าว

นายไชยยศ กล่าวอีกว่า การต่อสู้กับสิ่งที่ขัดผลประโยชน์ เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชน และเครือข่ายเยาวชนเข้ามาร่วมในการส่งสัญญาณปฏิเสธไปยังผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งยังกล่าวชื่นชมและเห็นใจนักศึกษาที่เข้าร่วมเครือข่ายครั้งนี้ เพราะต้องทนต่อแรงเสียดทานที่มาจากเพื่อนของตนเอง พร้อมย้ำจะนำหลักการที่รับมาในวันนี้เข้าหารือกับ รมว.มหาดไทย สาธารณสุข พัฒนาสังคม และวัฒนธรรมในการประชุมร่วมรัฐสภาต่อไป

“ผมมองว่า เวลาเราสู้กับผลประโยชน์อะไรหลายๆ อย่างมันยาก อย่างเรื่องบุหรี่ที่งดโชว์ตัวสินค้า บุหรี่บางยี่ห้อมีผลประกอบการเดือนหนึ่งๆ 90 กว่าล้านบาท กับการที่โชว์บุหรี่ในจุดที่เรียกว่า Point of sale บังเอิญผมโชคดีที่ทำได้และไม่ถูกฟ้อง เพราะว่าได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายภาคประชาชนจำนวนมหาศาล ผมว่าร้านสะดวกซื้อประเภทที่มีสาขาจำนวนมาก ถ้าเขาตั้งสาขาอยู่ใต้หอพักแล้วขายอย่างอื่นแทนจะเป็นสิ่งที่ดีมาก ผมว่าถ้าน้องๆ นักศึกษาช่วยกันส่งความคิดนี้ไปยังผู้ประกอบการเหล่านั้นได้ กระบวนการการขายเหล้าใต้หอพักก็จะได้ลดลง และต้องขอชื่นชมทุกคน ที่ได้มาร่วมกันทำกิจกรรมในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 15 สถาบันนำร่อง ผมเห็นใจน้องๆ นักศึกษาทุกคนที่ลงมาทำตรงนี้ ผมว่าคนที่จะมาทำเรื่องพวกนี้ก็มีแรงกดดันในเพื่อนฝูงของตัวเองด้วย” นายไชยยศ กล่าว

ด้านผศ. ดร.ปริญญา เทวาณฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เป็นห่วงว่าตอนนี้ประเทศไทยมีการออกใบอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายมาก ซึ่งการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราของกรมสรรพสามิต มีข้อกำหนดว่าห้ามจำหน่ายในวัด สถานศึกษา ปั๊มน้ำมัน และระบุข้อความว่า “พื้นที่ต่อเนื่องติดกับ” ทั้ง 3 แห่ง หากพบภายหลังว่ามีการจำหน่ายในสถานที่ต้องห้ามจะมีการเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งพบว่ายังมีการกระทำผิด นอกจากนี้ในส่วนที่ห้ามจำหน่ายให้กับเยาวชนอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ก็พบปัญหาว่ายังต่างจากเพดานอายุของกรมสรรพสามิตที่ผู้ซื้ออยู่ต่ำกว่า 18 ปี

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) กล่าวว่า ปัญหาสังคมอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ปล่อยปละละเลย ซึ่งป.ป.ท.มีลักษณะคือ ป้องกันและปราบปราม เมื่อเราพบว่ามีการทำความผิดตามที่ประชาชนร้องเรียนก็จะตรวจสอบและแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ หากไม่ดำเนินการ ก็จะกดดันให้ดำเนินการ ทั้งนี้ นโยบายของกระทรวงยุติธรรมกำลังจะมีหน่วยงานเฉพาะกิจที่ประกอบด้วย ป.ป.ท.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ดำเนินการด้านนี้โดยเฉพาะ หากพบว่ามีการเรียกรับเงินก็ต้องดำเนินการ แล้วจากนั้นจะมีการรายงานกลับไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อรายงานให้นายกรัฐมนตรี ทราบต่อไป

ด้านน.ส.กรองทอง ผักใหม นักศึกษาจาก ม.นเรศวร ในฐานะแกนนำเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยนำร่องโซนนิ่งคุมเหล้ารอบสถานศึกษา กล่าวว่า สถานบันเทิงรอบรั้วมหาวิทยาลัยหนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นช่องทางในการเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ ผู้ประกอบการมีวิธีการ เอาเปรียบสังคมด้วยการกระทำผิดกฎหมาย มีการลดแลกแจกแถม ใช้กลยุทธ์ต่างๆ จนก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งผลการเรียนที่ต่ำลง อุบัติเหตุ อาชญากรรม จึงอยากเห็นรอบสถานศึกษาปลอดร้านที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรัฐควรมีมาตรการควบคุมร้านเหล้าอย่างเป็นรูปธรรม
น.ส.กรองทอง กล่าวด้วยว่า สำหรับความเห็นร่วมกันของทางเครือข่ายนักศึกษาในการผลักดันมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ 1.ไม่จำหน่ายและให้คนที่สวมใส่ชุดนักศึกษาเข้าใช้บริการ 2.ให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการออกใบอนุญาติและควรให้สถาบันการศึกษามีส่วนร่วมในการเห็นชอบด้วย 3.ขอความร่วมมือสถานบริการไม่เปิดบริการช่วงการรับน้อง สอบ หรือรับปริญญา 4.ออกประกาศไม่ให้ผู้ที่มึนเมาสุราเข้าร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัย 5.รณรงค์ให้ความรู้และเข้มงวดกวดขันการจราจรในหรือรอบมหาวิทยาลัย และจัดให้เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษในการจัดการจราจร และ 6.สถาบันจะต้องสร้างความร่วมมือและความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับสถานประกอบการ
สำหรับมหาวิทยาลัยที่ตอบรับและร่วมในการจัดโซนนิงรอบสถานศึกษาให้เป็นพื้นที่ปลอดเหล้ามีทั้งหมด 15 มหาวิทยาลัย ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยนเรศวร 2.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3.มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 4.มหาวิทยาลัยบูรพา 5.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 6.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 7.มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 8.มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม 9.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 10.มหาวิทยาลัยขอนแก่น 11.มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 12.มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 13.มหาวิทยาลัยรังสิต 14.วิทยาลัยราชพฤกษ์ และ 15.มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น