ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ รายงาน
หลังจากมีความเคลื่อนไหวของ นายแวอาลี คอปเตอร์ เรียกประชุมแกนนำเพื่อวางแผนก่อเหตุ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้มีการแจ้งเตือนกลุ่มคนร้ายเตรียมก่อเหตุสถานที่ราชการ ธนาคาร และภาคธุรกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสมือนเป็นสัญญาณหนึ่งที่ปลุกให้หน่วยงานด้านความมั่นคงตั้งรับอีกครั้ง แต่ท้ายที่สุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ออมสิน, กรุงไทยและกรุงเทพ ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส, ตันหยงมัส และสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ก็ตกเป็นเหยื่อความไม่สงบอีกครั้ง
โดยครั้งนี้คนร้ายได้ปรับยุทธวิธีการก่อเหตุ ด้วยการหันมาใช้ระเบิดแสวงเครื่องแบบตั้งเวลาด้วยนาฬิกาข้อมือดิจิตอล กำหนดเส้นตายล่าวิญญาณผู้บริสุทธิ์ตั้งแต่เวลา 06.35-09.00 น. ของวันที่ 2 มี.ค.วันแรกของต้นเดือนและเป็นเปิดทำการวันแรกด้วย มุ่งเน้นบริเวณภายนอกธนาคารและตู้เอทีเอ็มที่คาดว่าจะมีผู้คนมาใช้บริการจำนวนมาก หลังจากเคยประสบความสำเร็จในการรุมสกรัมธนาคารพาณิชย์ 22 แห่งใน จ.ยะลา มาแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา
แต่ก็ยังถือว่าโชคดีที่คนร้ายเพิ่งสบโอกาสหลังผ่านวันหยุดชดเชยวันมาฆบูชา ซึ่งยังเป็นเวลาเช้าตรู่ ตลอดจนมีประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสวัตถุต้องสงสัยจนสามารถทำลายระเบิดได้อีก 3 จุด ทำให้ความสูญเสียของทรัพย์สินมีไม่มาก แต่ก็ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 2 ราย
แรงสั่นสะเทือนนี้ทำให้ธนาคารพาณิชย์ใน 3 จังหวัดเร่งตรวจสอบกล้องโทรทัศน์กล้องวงจรปิดของตัวเอง หน่วยความมั่นคงก็เร่งดูแลความปลอดภัยให้ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งการลาดตระเวน ตั้งด่านตรวจตรวจสกัด ขณะที่กำลังของกองทัพก็ยังงัดเครื่องมือ GT200 ที่นักวิชาการพิสูจน์และตีราคาแค่ไม้ล้างป่าช้านำมาใช้อย่างเอาจริงเอาจัง ตามความเชื่อและศรัทธาในประสิทธิภาพตราบเท่าที่ยังไม่มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ตัวอื่นมาทดแทน
บทเรียนอันไม่รู้จบนี้เสมือนเป็นการทดสอบฝือมือรัฐในการป้องกันและแก้ไขไฟใต้ทุกระดับ โดยเฉพาะการติดตามแกะรอยหาเบาะแสของคนร้าย ภายใต้การนำของพล.ต.ต.ชัยทัต อินทนูจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.นราธิวาส ที่จะระดมกำลังและประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน
ทว่า เวลาล่วงไปแล้วถึงถึง 3 วันกว่าที่เจ้าหน้าที่จะรู้ว่าเป็นฝีเมือของกลุ่มสมาชิกแนวร่วมรุ่นใหม่ กองกำลังติดอาวุธ RKK อายุระหว่าง 18-22 ปี ซึ่งได้รับคำสั่งจาก นายอำรัน มิง แกนนำระดับปฏิบัติการณ์ที่ก่อเหตุใน จ.นราธิวาส มาอย่างโชกโชน และได้รับคำสั่งจากนายแวอาลีมาก่อเหตุอีกทอดหนึ่ง
โดยหลักฐานที่โยงไปถึงตัวผู้ก่อเหตุ เมื่อรวมกับการให้ปากคำของพยานมีน้ำหนักพอที่จะชี้ชัดตัวคนร้ายว่า เป็นกลุ่มเดียวกันที่กระทำการก่อเหตุทั้งใน 3 อำเภอของจ.นราธิวาสได้ก็คือ ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดนั่นเอง แต่ก็มีความชัดเจนเพียง 2 จุดเท่านั้น ได้แก่ บริเวณตู้เอทีเอ็มของธนาคารออมสิน สาขาตันหยงมัส อ.ระแงะ และตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงเทพ สาขาสุไหงโก-ลก
ยกเว้นเหตุระเบิด 3 จุดในเขต อ.เมืองนราธิวาส คือ ที่ธนาคารออมสินถูกวางระเบิดทั้งด้านหน้าและหลังรวม 2 ลูก และตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย ซึ่งติดกับสำนักงานเทศบาลเมืองนราธิวาสอีก 1 ลูก ที่ยังมีความมืดมนจนหารูปพรรณสัณฐานของคนร้ายยังไม่ได้
และคงต้องย้อนถามถึงกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่หลายหน่วยงานเทงบประมาณจัดซื้อและติดตั้ง โดยเฉพาะเจ้าภาพใหญ่อย่างกระทรวงมหาดไทยที่ใจป้ำควักงบเฉียดพันล้านติดตั้งใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 3,520 ตัว โดยทั้ง 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส ได้รับโควตา 1,028 ตัว แต่ ณ บัดนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่าเมื่อไหร่จะใช้การได้เสียที
นายวันอัลวี วันยะฟาร์ นายกเทศมนตรีเมืองนราธิวาส กล่าวว่า เหตุระเบิดที่เกิดติดกับสำนักงานเทศบาล ได้มีการนำภาพกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของเทศบาลไปให้ตำรวจเพื่อร่วมคลี่คลายคดีแล้ว โดยมีการติดตั้งภายในและภายนอกรวม 13 จุด ซึ่งถือเป็นการดูแลความปลอดภัยที่ทำได้ระดับหนึ่งตามศักยภาพเท่านั้น แต่หากมีงบประมาณมากพอหรือได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลางแล้วควรจะมีเพิ่มอีก 10 จุด ทั้งในส่วนของประตูเข้า-ออก เพื่อให้ครอบคลุมทุกจุด แต่ในปีงบประมาณนี้เทศบาลไม่สามารถทุ่มดูแลด้านความปลอดภัยได้มากกว่านี้อีกแล้ว เพราะงบประมาณในการพัฒนาลดลงถึง 36 ล้าน
แต่ที่น่าหนักใจ คือ ในพื้นที่มีทั้งตำรวจและทหารจำนวนมาก แต่ก็ยังมีช่องว่างให้คนร้ายก่อเหตุจนได้ และยังทำให้ นางพร้อม ศิริพร พนักงานทำความสะอาดของเทศบาลได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดอีกด้วย ซึ่งแพทย์ยังคงรอดูอาการก่อนที่จะตัดสินใจว่า จะผ่าตัดแผลที่ถูกสะเก็ดระเบิดเมื่อไหร่
“ทั้งนี้ อีกจุดหนึ่งที่มีการส่งสัญญาณเตือนมาแล้ว คือ บริเวณริมแม่น้ำบางนรา ที่ซึ่งเป็นที่พลุกพล่านทั้งคนสัญจรไปมา บ้านเรือนที่แออัดและบางส่วนยังรกร้าง แต่ยังขาดการดูแลความปลอดภัย ทั้งการขาดตระเวนและกล้องโทรทัศน์วงจรปิด และเห็นว่าในระยะยาวควรพัฒนาทั้งการดูแลความปลอดภัยและทัศนียภาพให้เป็นแหล่งพักผ่อนได้” นายวันอัลวี กล่าวและเพิ่มเติมว่า
“โดยเทศบาลได้มีการทำประชาพิจารณ์และประชาชนเห็นด้วยให้ทำโครงการถนนคนเดิน ควบคู่กับการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะและเป็นแนวป้องปราการไม่ให้เข้ามาก่อเหตุริมตลิ่งได้ง่าย แต่ก็ยังเป็นแค่โครงการเท่านั้นเพราะกระทรวงมหาดไทยไม่เคยตอบสนองด้านงบประมาณ”
ส่วนการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้วยกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าในพื้นที่ 5 จังหวัดนั้น นายวันอัลวี กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ตนก็ยังไม่ทราบความคืบหน้า และเห็นว่า การป้องกันเหตุในระยะยาวนั้น ควรซื้อใจชาวบ้านให้ศรัทธาการทำงานของภาครัฐจะดีกว่า โดยการส่งเสริมความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความทัดเทียมพื้นที่รอบข้าง ทั้งจังหวัดใกล้เคียงและประเทศมาเลเซียซึ่งชาวบ้านสามารถความแตกต่างในการพัฒนาอย่างชัดเจน
แน่นอนที่สุด ในสถานการณ์เช่นนี้ แม้การดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ต้องยึดสุภาษิต “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เมื่อใดที่สามารถดูแลตัวเองก็ช่วยกันสอดส่องดูแลผู้อื่น แต่การจะซื้อใจประชาชนยังเป็นโอกาสของภาครัฐที่จะพิสูจน์ตัวเอง ดังเช่น การคลี่คลายคดีนี้ที่ยังไม่สามารถพึ่งพากล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่มีอยู่ได้เต็มร้อย