ยะลา - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา 12 ประเทศลงพื้นที่ จ.ยะลา เพื่อสร้างความเข้าใจแก่นานาประเทศ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่แท้จริงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้ (21 ก.พ.) ที่ห้องประชุมศรียะลา ชั้น 3 อาคารศาลากลางจังหวัดยะลา (หลังใหม่) เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คณะเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา และประเทศอื่นๆ รวม 12 ประเทศ คือ เอกอัครราชทูตประเทศเปรู อาร์เจนติน่า อัฟริกาใต้ ชิลี แคนนาดา สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส รัสเซีย เคนย่า อินเดีย ยูเครน และ แมคซิโก เข้าร่วมประชุมและรับฟังการบรรยายสรุปการทำงานของสภาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ มี นายวีระยุทธ์ สุขเจริญ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ฝ่ายยุติธรรม) นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายอาซีส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่เข้าร่วมประชุม และ ให้การต้อนรับ
สำหรับที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และ เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาและ การพัฒนาที่มีความสอดคล้องกับอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่จากผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วน โดยมีองค์ประกอบประมาณ 30 - 35 คน โดยเน้นเฉพาะคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านการศึกษาหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พิจารณากลั่นกรองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายกรัฐมนตรี
ส่วนในพื้นที่ จ.ยะลา นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา มีรูปแบบการแก้ปัญหาโดยการนำประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน หมู่บ้าน โดยใช้ผู้นำ 4 เสาหลัก คือ ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และ ผู้นำทางจิตวิญญาณ
ที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดี จากแนวโน้มเหตุการณ์ในพื้นที่ลดลง ปี 2550 มีเหตุการณ์ จำนวน 511 เหตุการณ์ ปี 2551 จำนวน 235 เหตุการณ์ และ ปี 2552 จำนวน 155 เหตุการณ์ ลดลงคิดเป็นร้อยละ 57.35 และ 34.04 ตามลำดับ มีผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ด้วยความสมัครใจ จำนวน 41 คน รวมทั้งในปัจจุบันมีประชาชนออกมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ มากยิ่งขึ้น
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การเดินทางลงมาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 4 แล้วที่ได้นำคณะทูตฯ ลงพื้นที่ โดยมี 2 เป้าหมาย คือ นำคณะฑูตฯ ลงมาในพื้นที่เพื่อรับทราบข้อมูลที่เป็นความจริง มีความแตกต่างจากที่เคยได้อ่านในหนังสือพิมพ์ หรือรับฟังจากสื่อต่างๆ ว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของประเทศไทยมีความรุนแรง และ เป็นการสะท้อนว่าประเทศไทยเป็นสังคมที่เปิดมีความเป็นประชาธิปไตย มีความเสนอภาค
อีกทั้ง มาติดตามดูงาน พร้อมรับฟังประเด็นปัญหาเพื่อจะได้นำข้อมูลต่างๆ ร่วมปรึกษาหารือกันในคณะรัฐมนตรี ด้วยความมุ่งมั่นที่ว่า แผนต่างๆ ที่รัฐบาลได้มี และได้เริ่มทำงานแล้วนั้น จะมีการดำเนินการที่มีความรวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของประชาชนเร็วที่สุด การเยือนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้าใจแก่นานาประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ที่แท้จริง และ การดำเนินงานของรัฐบาลเกี่ยวกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ววัน