สุราษฎร์ธานี-ศาลแขวงสุราษฎร์ธานี เปิดโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2553 มีลูกหนี้เกือบ 3,000 ราย มูลค่าหนี้กว่า 350 ล้านบาท
วันนี้ (23 ม.ค.) นายเปรมศักดิ์ ชื่นชวน อธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 เป็นประธานเปิดงานโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืม เพื่อการศึกษาก่อนฟ้องคดี ประจำปีงบประมาณ 2553 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ระหว่างวันที่ 23-25 มกราคม 2553 เนื่องจากปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้กู้ยืมของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จากทั่วประเทศ ถูกบอกเลิกสัญญา และจะถูกฟ้องดำเนินคดีเป็นจำนวน 148,613 ราย และปีนี้ กองทุนฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลผู้กู้ที่ครบชำระหนี้รุ่นปี 2542– 2548 ที่ค้างชำระหนี้ 5 งวดขึ้นไป ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 ปรากฏว่า มีจำนวนผู้กู้ยืมฯ จากทั่วประเทศที่ถูกบอกเลิกสัญญา และจะถูกดำเนินคดีเป็นจำนวน 161,739 ราย มากกว่าปีที่ผ่านมา 13,126 ราย
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้เพื่อการศึกษาก่อนยกฟ้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบันในหลายจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค ปรากฏว่า มีผู้เข้าร่วมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นจำนวนมาก และสามารถตกลงยุติข้อพิพาทได้มากกว่าร้อยละ 90 สร้างความพึงพอใจให้กับทุก ฝ่ายเป็นอย่างดี
ซึ่งข้อตกลงระหว่างผู้พิพาททั้ง 2 เป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้พิพาท ถ้าหากตกลงกันไม่ได้ก็เข้าสู่ กระบวนการระงับข้อพิพาททางอื่นต่อไป แต่หากตกลงกันได้ก็จะเป็นการลดปริมาณคดีที่จะเข้าสู่ศาลได้อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เกิดประโยชน์แก่ตัวผู้กู้ที่ไม่ต้องถูกดำเนินคดี และ กยศ.ก็สามารถนำเงินที่ได้จากการติตามหนี้ไปใช้ประโยชน์กับผู้กู้รายอื่นต่อไป
นายธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า กองทุนฯ ยินดีที่ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลแขวง และศาลจังหวัดต่าง ๆ จัดให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ย ก่อนฟ้องคดีขึ้นเป็นปีที่ 6 ทั้งนี้กองทุนฯ มีนโยบายต้องการช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ 5 งวดขึ้นไป ซึ่งกำลังจะถูกบอกเลิกสัญญาในปี 2553 รวมถึงผู้ค้ำประกันไม่ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เสียค่าทนาย และค่าธรรมเนียมศาล จึงขอเชิญชานผู้กู้ยืมกลุ่มดังกล่าว ให้มาร่วมการไกล่เกลี่ย และทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่เข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยจะไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และยังได้โอกาสผ่อนชำระหนี้ เป็นการแบ่งเบาภาระการชำระหนี้ตามอัตราที่กองทุนฯ กำหนดด้วย
โดยในปีนี้ กลุ่มผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ 5 งวดขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 161,739 ราย เป็นมูลนี้ที่ค้างชำระประมาณ 15,824 ล้านบาท ภาคใต้ 27,358 ราย เป็นมูลหนี้ค้างชำระประมาณ 3,134 ล้านบาท โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีจำนวนทั้งสิ้น 2,809 ราย เป็นมูลหนี้ค้างชำระประมาณ 352 ล้านบาท
ซึ่งหากมีการดำเนินคดีดังกล่าวยื่นฟ้องต่อศาล จะทำให้กองทุนฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีดังกล่าวยื่นฟ้องต่อศาล แต่ถ้าไม่มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนดำเนินคดี จะทำให้ลดค่าใช่จ่ายในการดำเนินคดีไปได้มาก
สำหรับหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการผ่อนชำระหนี้คืนกองทุนฯ ในการไกล่เกลี่ยมี 2 กรณี คือ ทำคำรับรองขอชำระทั้งหมด หรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาล โดยขอให้ผู้กู้ยืมที่มาเข้าโครงการฯ เตรียมเอกสารหลักฐานแสดงตนมาให้พร้อม หากไม่สามารถเดินทางมาด้วยตัวเองได้ ให้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ที่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้มาศาลเพื่อเป็นผู้เจรจาแทน ผู้ที่สนใจเข้าดูรายละเอียดกำหนดการแต่ละจังหวัด และเงื่อนไขกฎเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการได้ ทาง www.studentloan.ro.th หรือ สอบถามเพิ่มเติมโทร 02-610 4888
“กองทุนฯ ขอฝากไปถึงกลุ่มผู้กู้ยืมที่ค้างชำระ และผู้กู้ยืมทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของกองทุนฯ ที่ได้จากภาษีของประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้นำมาเป็นทุนหมุนเวียน เพื่อช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาที่ยากจน ให้มีโอกาสทางการศึกษาโดยเทียบเทียมกัน ซึ่งเงินที่ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ที่นำมาชำระหนี้ จะเป็นการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษารุ่นน้องต่อไป”