ปัตตานี – "ประเวศ วะสี"เปิดกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติเผย ในรอบ 6ปีช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ จำนวน 4,857 คน เน้นย้ำการเยียวยาต้องทำด้วยใจ ทุกฝ่ายทั้งรัฐและประชาชนต้องช่วยเหลือซึ่งกันและใจ ความสันติสุขเกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่โรงแรม ซี เอส ปัตตานี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติได้เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาอนุกรรมการกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการช่วยเหลือเยียวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ และมอบประกาศเกียรติคุณแก่คณะกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติพร้อมกับส่งมอบงานให้กับมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ โดยมีนายนายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่าที่ ร.ต.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นักวิชาการ อนุกรรมการกองทุนฯผู้บริจาคเงินทุน หัวหน้าส่วนราชการและผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วม จำนวน 200 คน
กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติได้จัดตั้งเมื่อปี 2548 เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ และสนับสนุนการสร้างความสมานฉันท์ในชาติ ซึ่งตั้งแต่ 4 มกราคม 2547-28 มกราคม 2552 มีผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บทรัพย์สินเสียหาย จำนวน 13500 คน ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากกองทุนฯ จำนวน 4857 คน แยกเป็น จ.ปัตตานี1617 ราย จ.ยะลา 1,203 ราย จ.นราธิวาส 2,037 ราย
ในส่วนของกิจกรรมโครงการที่สนับสนุนการสร้างความสมานฉันท์ในชาติ เช่น โครงการช่วยเหลือประชาชนกรณีเกิดอุทกภัย โครงการเกี่ยวกับหญิงหม้าย เด็กกำพร้า โครงการศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ โครงการภาคีองค์กรสื่อเพื่อการพัฒนายุทธศาสตร์ดับไฟใต้ และโครงการศูนย์ข่าวอิศรา”โต๊ะข่าวภาคใต้” สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวถึงการแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาว่า มีการทำงานที่ชัดเจนและเป็นแนวทางเดียวกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือเยียวยา มีประชาชนในพื้นที่ ในชุมชนได้ช่วยกันขับเคลื่อนการทำงานมากขึ้น
ประธานกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ กล่าวอีกว่า ในสังคมปัจจุบันประชาชนต้องอยู่ด้วยการเยียวยาร่วมกัน ไม่ควรอยู่แบบสังคมเห็นแก่ตัว และการที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ร่วมมือกันสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในทุกเรื่องและอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ทำด้วยใจ ตนเชื่อว่าในระยะยาวจะเกิดความสันติสุขขึ้นในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน