ปัตตานี – “แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ” ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดิน เห็นด้วยกับ “จิ๋ว” ตั้งเขตปกครองพิเศษน่าจะเป็นทางลงที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ้างเป็นแนวคิดนายกฯ มาเลย์ที่นายกฯ ไทยเห็นด้วยแล้ว รอฟัง “มาร์ค”คุยข้อเสนอ"นาจิ๊บ"ธ.ค.อีกครั้ง แนะตั้งกระทู้ในสภา
นายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวถึงการเสนอเขตปกครองพิเศษนครปัตตานี ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทยว่า ระบบประชาธิปไตยในอุดมคตินั้น อำนาจต้องมาจากประชาชนและไปสู่ประชาชน ดังนั้นเขตปกครองพิเศษก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการกระจายอำนาจแค่นั้นเอง ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน น่าจะเป็นทางเลือกและทางเลือกนี้ได้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาในแคว้นอาเจะห์ประเทศอินโอนิเซียมาแล้ว
“แนวคิดนี้จะบอกว่าเป็นแนวคิดของท่าน พล.อ.ชวลิต คนเดียวไม่ได้ เพราะสื่อในประเทศมาเลเซียได้ออกข่าวไปแล้วในช่วงประชุมว่าท่านนายกอภิสิทธิ์ ได้ตอบรับข้อเสนอของนายนาจิ๊บ ราซัก นายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียไปแล้ว ที่จะให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเขตปกครองพิเศษหรือเขตปกครองตนเอง ความคิดนี้น่าจะเป็นทางลงที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”
นพ.แวมาฮาดี กล่าวอีกว่า ในเรื่องนี้อยากถามนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี ว่าการตอบรับข้อเสนอของนายนาจิ๊บหมายความว่าอย่างไร ซึ่งยังมีการพูดถึงการจะมาคุยกันในรายละเอียดอีกครั้งในช่วงเดือน ธ.ค. เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้ ไม่ใช้เรื่องที่ทาง พล.อ.ชวลิต ต้องตอบคำถามเพียงฝ่ายเดียว แต่ทางท่านนายกอภิสิทธิ์ ต้องตอบคำถามนี้ด้วย อยากให้ทางสภาเปิดโอกาสในการตั้งกระทู้ คืออยากจะได้คำตอบจากทางท่านนายกอภิสิทธิ์ อยากจะมีเขตปกครองพิเศษจริงหรือไม่
“ผมมองระหว่างในพรรคประชาธิปัตย์กันเอง หรือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เรื่องเขตปกครองพิเศษที่นายนาจิ๊บเสนอ ท่านนายกอภิสิทธิ์ตอบรับ แต่ทางรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ น่าจะมีความกระจ่างในประเด็นนี้ เพื่อให้ทางในพื้นที่สามารถทำงานทางการเมืองที่ชัดเจนและคลี่คลายปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปหากสับสนเช่นนี้ไม่เป็นการดีแน่ เพราะประเทศเพื่อนบ้านที่มีใจและพร้อมจะให้ความร่วมมือในทิศทางใดๆ ก็ไม่มีความชัดเจน”
น.พ.แวมาฮาดี กล่าวถึงการรับฟังข้อเสนอแนะจากพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์มีความคิดของเขาเอง ยกตัวอย่างกฎหมาย สบ.ชต.ที่ตนเคยเสนอให้มีสภาสมัชชาประชาชนเป็นองค์กรคู่ขนานในการทำงานกับ สบ.ชต.ด้วย ก็ไม่มีการยอมรับของพรรคประชาธิปัตย์ในประเด็นนี้ หากกฎหมายฉบับนี้เข้าไปโดยที่เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาเป็น ผอ.สบ.ชต. และข้าราชการระดับรองปลัดกระทรวงมหาดไทยมาเป็นเลขาฯ ตรงนั้นเป็นเพียงเรื่องของการจัดสรรงบประมาณที่ฝ่ายการเมืองและพลเรือนไม่อยากให้ขึ้นกับทางฝ่ายความมั่นคงหรือทางกองทัพ เพราะทุกวันนี้ เราใช้กฎหมายความมั่นคงอยู่ งบประมาณทุกอย่างที่เคยลงมายัง ศอ.บต.เดิม ต้องเป็นงบประมาณที่ผ่านทางกองทัพ แต่เมื่อเป็น สบ.ชต.แล้ว ทางฝ่ายการเมืองจะได้เอามาจัดสรรเองก็แค่นั้น
“ผมอยากจะถามว่า ประชาชนมีส่วนร่วมตรงไหน หากไม่มีสภาสมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นองค์กรคู่ขนานในการบริหารจัดการของ สบ.ชต. ตรงนี้มันยิ่งไกลไปอีกในเรื่องของเขตปกครองพิเศษ เพียงขอให้มีสภาสมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ปฏิเสธแล้ว”
ต่อข้อซักถามในเรื่องการจะเข้ามาร่วมงานกับ พล.อ.ชวลิต นั้น นพ.แวมาฮาดี กล่าวว่า คำว่าการทำงานการเมือง ไม่ได้หมายความว่าอยู่ในพรรคเดียวกัน ในวันนี้วาระภาคใต้ไม่ได้เป็นเรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่งแม้จะมีพรรคที่ดีที่สุดก็ตามมันก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมาร่วมกันแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นการมาของ พล.อ.ชวลิต อย่าไปมองเป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย แต่ให้มองที่ความห่วงใยของทาง พล.อ.ชวลิตในการแก้ปัญหาภาคใต้ ตนแม้จะอยู่พรรคเพื่อแผ่นดินก็ต้องมาร่วมงานกับท่านเพื่อร่วมแก้ปัญหา