xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” ดวล “จรัล” ร่วมหาทางออกขัดแย้งทางการเมือง “เหลือง-แดง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – สมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ อุ่นเครื่องเปิดเวทีเชิญ “เหลือง-แดง” เสวนาความขัดแย้ง “จรัล ดิษฐาอภิชัย” ชี้ ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นจุดยืนตัวเองแล้วหันหน้าเข้ากันยาก เสนอนิรโทษกรรม-ตั้งสภาปรองดองแห่งชาติ-ร่าง รธน.ใหม่ ย้ำแดงเดือดครั้งใหญ่ปลาย พ.ย.หลังเตรียมถอดยศ-เครื่องราชฯ ด้าน “สุริยะใส กตะศิลา” ย้ำพันธมิตรฯ มองข้ามพ้นปัญหา “แม้ว” ไปแล้ว จึงผุดพรรคการเมืองใหม่ อาสาแก้ปัญหาสาธารณะและสิ่งแวดล้อมให้สังคม แนะ นปช.สลัดเหลือบไรการเมือง สู้เพื่อประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมเรียกร้องพลังที่ 3 ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

วันนี้ (29 ต.ค.) เวลา 14.30 น.ที่โรงแรมบีพี แกรนด์ ทาวเวอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ จัดเสวนาวิชาการ “ความขัดแย้งทางการเมืองและทางออกของประเทศไทย” ดำเนินรายการ โดย นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานคินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย

ต่อกรณีความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดกลุ่มการเมืองภาคประชาชน 2 ฝ่าย ภายใต้สัญลักษณ์สีเหลืองและสีแดงนั้น รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ ว่า ความขัดแย้งเหล่านี้ยังมีข้อดีที่เป็นการแข่งขันให้ความรู้แก่ประชาชน และในระยะยาวนั้นประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ตั้งสมติฐานถึงสาเหตุ 3 ประการ คือ

1.การปกครองในระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2475 ยังก้าวไม่พ้นการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ตลอด 77 ปี นั้น การปกครองล้มลุกคลุกคลานความขัดแย้ง มีการต่อสู้ของประชาชนและมีการปฏิวัติ เหตุความขัดแย้งทางการเมือง 3-4 ปีนี้ ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์ที่ต้องการคงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ และฝ่ายหัวก้าวหน้าที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง อาจจะเป็นเพราะการปฏิวัติยังเกิดไม่เสร็จสิ้นก็เป็นได้

2.พัฒนาการของประชาธิปไตยที่ยังไม่สิ้นสุด และ 3.วงจรอุบาทว์ทางการเมืองที่ใช้เงินเลือกตั้งซื้อเสียง แล้วมีการคอร์รัปชันเพื่อถอนทุนคืน ทำให้มีการลุกฮือขับไล่ผู้นำที่ทุจริต ผสมกับประเด็นอื่นๆ ทำให้มีการใช้อำนาจรัฐสลายการชุมนุมและเกิดการปฏิวัติซ้ำ ซึ่งทั้ง 3 สมมติฐานนี้อาจจะเกี่ยวพันกันทั้งหมดก็ได้

ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือในต่างประเทศนั้น เป็นเพราะการไม่ได้รับความเป็นธรรม ใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต เมื่อผสมกับปัญหาอื่นๆ ทำให้เกิดการปะทุขึ้นโดยง่าย และหากเป็นไปตามสมติฐานข้างต้นว่าเกิดขึ้นจากวงจรอุบาทว์ ก็เพราะรัฐใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมนั่นเอง

“ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงก็ยังไม่มีใครรู้อนาคตตัวเองว่าจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่น่าจะทำได้และเป็นทางออกในขณะนี้ คือปล่อยให้มีการต่อสู้กันไปด้วยเหตุผล โดยปราศจากความรุนแรงผสมโรง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า ความขัดแย้งที่สร้างความสูญเสียให้ประเทศมากที่สุด คือ ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะสูญเสียทั้งกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชน ทรัพย์สิน และงบประมาณ ซึ่งก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุด

ส่วนกรณีของกลุ่มเสื้อ 2 สีนี้ เกิดจากทุกคนรักชาติ แต่มองปัญหาต่างกัน โดยต่อสู้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งได้สร้างความขัดแย้งในวงกว้างและหยั่งรากลึก ลักษณะคล้ายการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ซึ่งหากแต่ละฝ่ายยึดมั่นในจุดยืนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง น่าจะคลี่คลายยากแต่จะขยายตัว และที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ทั้ง 2 ฝ่ายไม่พูดความจริงทั้งหมด หากเป็นความจริงที่ทำให้ฝ่ายตนเสียผลประโยชน์

ผศ.จรัล ยังกล่าวต่อด้วยว่า การที่สังคมแบ่งฝ่าย ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่ว่า เมื่อมีการชุมนุมแล้วรัฐบาลใช้อำนาจปราบปรามด้วยความรุนแรงแล้วไม่ได้เร่งเร้าให้พลังประชาชนลุกฮือมาร่วมต่อสู้ถ้าไม่ใช้อยู่ในฝ่ายเดียวกัน แต่คนที่อยู่คนละขั้วเพิกเฉย เกิดความสะใจ หรือดีมิดีจะร่วมผสมโรงอีกต่างหาก

ส่วนแนวทางยุติปัญหาความขัดแย้งนั้น ผศ.จรัล ชี้ว่า มีอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1.มีผู้แพ้-ชนะ 2.มีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่เก่า และ 3.มีการประนีประนอม พร้อมเสนอทางออกว่า 1.ควรนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย 2.ตั้งสภาปรองดองแห่งชาติ และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ

“ใจจริงแล้วคนเสื้อแดงอยากให้เรื่องนี้จบเร็วที่สุด แต่ข้อเสนอที่กล่าวมานั้น ไม่มีใครเห็นด้วย แม้แต่กลุ่มเสื้อแดงเองก็ตาม ทว่า นายวีระ มุสิกพงศ์ นั้น เชื่อมั่นในสันติวิธีมาก แต่ต้องอาศัยพลังจากประชาชนมหาศาล ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วบางครั้งเรายังยึดกลุ่มไม่ค่อยได้” ผศ.จรัล กล่าวต่อและว่า

แนวโน้มข้างหน้า กลุ่มคนเสื้อแดงเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ที่สุดช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอความเห็นมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เรื่องการถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากต้องพิพากษาถึงที่สุดในจำคุกคดีที่ดินรัชดาฯ

“กระบวนการต่อสู้นั้น เสื้อแดงก็มีคนแก่ และสตรี 60% เหมือนกับกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นวัยที่ดื้อที่สุด และไม่กลัวตาย ดังนั้น ถ้ารัฐบาลต้องการปราบ หรือจำกัดการชุมนุมแล้ว ไม่ว่าจะประกาศ พ.ร.บ.หรือหาทางจับกุมแกนนำไปก่อน ก็ไม่มีทางจะหยุดได้ เพราะมีแกนนำรุ่นต่อไปเตรียมไว้แล้ว”

ขณะที่ นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ชี้ว่า เมื่อพูดถึงประชาชนในทางการเมืองแล้วจะมีแต่ความทรงพลัง แต่ถึงยุคนี้จะฉุกคิดว่าเป็นประชาชนสีไหน แม้ว่าในแนวทางการต่อสู้นั้นหลายๆ เรื่องมีความต้องการเหมือนกัน เช่น การต้องการสร้างความเป็นธรรม การใช้อำนาจของรัฐบนมาตรฐานเดียวกัน แต่เมื่อมีการหยิบยกเรื่องของทักษิณขึ้นมาทำให้เกิดปัญหา และพาลให้เรื่องอื่นๆ ที่เคยคิดเหมือนกันคุยด้วยกันไม่ได้

และน่าเป็นห่วงว่า การมองสถานการณ์ความขัดแย้งมักตัดตอนเฉพาะห้วงเวลาใดห้วงเวลาหนึ่ง แม้แต่นักวิชาการก็ตาม ทำให้มองไม่เห็นปัญหาที่ใหญ่ว่าทักษิณ คือปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการเมือง เพราะมีนักธุรกิจการเมือง

แต่การปรับตัวของกลุ่มเสื้อเหลือง หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้มองข้ามปัญหาของทักษิณมาแล้ว จึงมีการปรับตัวตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อสร้างสังคมการเมืองใหม่ โดยหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสาธารณะ สิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น เรื่องนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เซาเทิร์นซีบอร์ด โดยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญของเรื่องทักษิณเพียงพอที่จะนำมาพูดในที่ประชุมเลย และเห็นว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาส่วนตัวที่ต้องไปแก้ตัวต่อศาล ส่วนรัฐบาลก็ต้องจัดการไปตามหน้าที่และกระบวนการ

นายสุริยะใส ยังกล่าวต่อด้วยว่า ส่วนพัฒนาการของกลุ่มเสื้อแดงที่ได้ตั้งโรงเรียนการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่ไม่คุ้มค่าที่จะนำไปต่อสู้เพื่อทักษิณ และเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้ออกจากวงจรของนักการเมืองห่วยๆ ที่รุมทึ้งดูดพลังไปรับใช้บางอย่าง แต่ต้องหันมาคิดถึงผลประโยชน์ส่วนร่วมของสังคม ซึ่งเหล่าแกนนำต้องปรับตัวทบทวนและมีจุดมุ่งหมายต่อสู้ที่ไกลกว่ายึดการต่อสู้แค่ตัวบุคคลคือทักษิณเท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่จำเป็นมากเพื่อไม่ให้เพิ่มความขัดแย้ง คือ การเคารพเสรีภาพซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถเปิดเวทีพูดคุยได้ในทุกที โดยไม่มีการขัดขวาง มุ่งทำร้ายจ่อกัน เช่นเดียวกับการเปิดเวทีพูดคุยระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายในวันนี้ หากเปิดใจกว้างจนสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วประเทศ ปัญหา “เหลือง-แดง” ก็จะจบ

“สุดท้ายนี้ ต้องเรียกร้องให้พลังที่ 3 คือ กลุ่มคนที่มีอยู่มากที่สุดในสังคม ซึ่งพยายามวางตัวเป็นกลาง ไม่เลือกอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ออกมา และร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม บ้านเมืองบ้าง โดยให้ร่วมแสดงออกและมีข้อเสนอแนะทางออก อย่าเพิกเฉยต่อเรื่องต่างๆ” นายสุริยะใส กล่าว

อย่างไรก็ตาม เวทีสัมมนาในครั้งนี้ ผู้จัดได้เตรียมมอบช่อดอกไม้สีเหลือง-แดง โดยสลับสีที่สังกัดให้แก่ นายสุริยะใส และ ผศ.จรัล แม้ว่าจะไม่มีการถ่ายรูปร่วมกันก็ตาม







กำลังโหลดความคิดเห็น