ยะลา - หลังเกิดเหตุระเบิดภายในตลาดสดยะลา หลายครั้ง ผู้ว่าฯยะลา สั่งทำสติกเกอร์สำหรับติดรถของพ่อค้า-แม่ค้า ภายในตลาด พร้อม สั่งไม่ให้คนในพื้นที่มีการโอนลอยรถทุกชนิด โอนลอยอาวุธปืน และเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด เพราะอาจเป็นช่องทางที่คนร้ายอาจนำมาก่อเหตุได้
วันนี้ (20 ต.ค.) การที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก่อเหตุระเบิด โดยการนำรถจักรยานยนต์บอมบ์ หรือ คาร์บอมบ์ หรือ ระเบิดชนิดแสวงเครื่อง มาก่อเหตุร้ายในย่านชุมชนเทศบาลนครยะลา โดยเฉพาะในย่านตลาดสด ถือเป็นปัญหาใหญ่ในปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนในพื้นที่ของจังหวัดยะลา การเกิดระเบิดภายในตลาดสดมีมาแล้ว ถึง 6 ครั้ง เกิดเหตุระเบิดภายในตลาดสด ครั้งแรกเกิดขึ้น วันที่ 2 ต.ค.2550 เกิดเหตุระเบิดบริเวณแผงขายหมู ตลาดเมืองใหม่ยะลา มีเจ้าหน้าที่ทหาร และ ชาวบ้าน ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 8 ราย
ครั้งที่ 2 เกิดระเบิดขึ้น เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2550 เกิดเหตุระเบิดอาคารพาณิชย์ ตลาดสดเมืองใหม่ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 26 รายครั้งที่ 3 เกิดระเบิดขึ้น เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2551 เกิดเหตุระเบิดภายในตลาดสดพิมลชัย ถนนพิมลชัย เขตเทศบาลนครยะลา มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 11 ราย ครั้งที่ 4 เกิดเหตุระเบิดขึ้น เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2551 เกิดระเบิดที่บริเวณรั้วสำนักงานแขวงการทาง ติดกับตลาดสดพิมลชัย ถนนกว้านเชียง เขตเทศบาลนครยะลา มีเจ้าหน้าที่ทหาร และ ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ จำนวน 10 ราย ครั้งที่ 5 เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 29 ต.ค.2551 เกิดเหตุระเบิด ในตลาดสดพิมลชัย ถนนพิมลชัย เขตเทศบาลนครยะลา มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 9 ราย
ล่าสุด วันที่ 19 ต.ค.2552 ที่ผ่านมา เวลา 07.30 น.เกิดเหตุระเบิดบริเวณแผงขายหมู ภายในตลาดสดพิมลชัย ถนนพิมลชัย เขตเทศบาลนครยะลา ทำให้มีเจ้าหน้าที่ทหาร พ่อค้า แม่ค้า และ ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ จำนวน 25 ราย สำหรับการลอบระเบิดในตลาดสดพิมลชัย ถนนพิมลชัย เขตเทศบาลนครยะลา เป็นครั้งที่ 4 โดยจุดที่เกิดในวันนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2551 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บ จำนวน 10 ราย
นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า ในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยในย่านชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเขตเทศบาลนครยะลา หรือ เทศบาลเมืองเบตง นั้น ปัจจุบันมีอาสาสมัครชุมชน รวมทั้งสมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติ ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ให้เงินงบประมาณสนับสนุน ฝึกให้ประชาชนมีการเข้าเวรยามภายในชุมชนหมู่บ้าน และ ฝึกการใช้อาวุธ การสังเกตสิ่งผิดปกติ วัตถุต้องสงสัย ยานพาหนะต้องสงสัย เพื่อดูแลป้องกันและ สร้างความสงบเรียบร้อยภายในชุมชน รวมถึงส่วนราชการที่มีกล้อง CCTV ที่ยังมีไม่ครอบคลุม
ในขณะนี้ จังหวัดได้รับคำแนะนำจาก แม่ทัพภาคที่ 4 ให้มีการเปิดลงทะเบียนยานพาหนะ ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่อยู่ในเขตชุมชน หรือภายในเขตเทศบาลทั้ง 2 แห่งนี้ และ ทางจังหวัดจะร่วมมือกับทางเทศบาลจัดทำสติกเกอร์ หรือ ป้ายสัญลักษณ์ให้กับประชาชนไปติดที่บริเวณหน้ารถ เช่น ในตลาดสดมีแม่ค้า พ่อค้า อยู่ จำนวน 300 คน มีรถจำนวน 400 คัน รถทั้งหมดจะมีสติกเกอร์อยู่หน้ารถ ด้านซ้าย เหมือนกับมีการบอกสัญญาณ บอกฝ่าย คือ พวกเดียวกัน กลุ่มเดียวกันนะ วันไหนที่มีรถที่ไม่มีสติกเกอร์ดังกล่าวเข้ามา ก็จะต้องมีการตรวจให้ละเอียด หรือ ในกรณีที่เกิดเหตุระเบิดขึ้น หรือเหตุร้ายขึ้นก็จะสามารถรู้ว่ารถเป็นของใคร ทำไมถึงได้อยู่กับกลุ่มคนร้ายได้
เรื่องที่ 2 คือ จากการตรวจสอบในพื้นที่พบว่าประชาชนในพื้นที่เวลาขายรถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ ขายเครื่องมือสื่อสาร หรือ อาวุธปืน ชาวบ้านจะมีการโอนลอยเท่านั้น นาย ก. ขายให้ นาย ข.เอาทะเบียนแล้วก็รับเงินมา ปรากฏว่า นาย ข.ที่รับรถมานั้น แทนที่จะไปโอนเปลี่ยนชื่อ แต่ไม่เปลี่ยน ชื่อก็ยังเป็นรถของ นาย ข.ไปขาย ต่อให้ นาย ค. นาย ค.นำไปวางระเบิด ทางเจ้าหน้าที่ก็มาจับกุมตัว นาย ก.ไป ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยาก ไม่สามารถทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำการสืบสวน-สอบสวนได้ชัดเจน
จึงอยากขอความร่วมมือกับประชาชนชาวจังหวัดยะลา ว่า ให้มีการโอนรถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ ขายอาวุธปืน ขายเครื่องมือสื่อสาร ให้เรียบร้อย อย่าประมาท มิฉะนั้นแล้ว หากสิ่งของดังกล่าวตกไปอยู่ในมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแล้ว อาจทำให้ประชาชนเกิดการเสียเวลาได้