xs
xsm
sm
md
lg

ยอดขายพุ่ง “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง – ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นข้าวสังข์ที่ปลูกเฉพาะในจังหวัดพัทลุงเท่านั้น เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพข้าวสังข์หยด และส่งเสริมอุตสาหกรรมในท้องถิ่นด้วย รวมถึงยังสามารถกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน

จากกระแสความนิยมข้าวสังข์หยด ส่งผลให้ราคาขายข้าวสังข์หยดพุ่งสูงขึ้น ทั้งยังเกิดความสนใจหมู่ผู้บริโภค และประชาชน เกี่ยวกับชื่อของข้าวสังข์หยด ที่มีทั้งข้าวสังข์หยดพัทลุง ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวสังข์หยด GI และอีกคำหนึ่งที่เข้ามาสับสนด้วย คือ GAP โดยส่วนใหญ่แล้วข้าวพันธุ์สังข์หยดที่ปลูกในจังหวัดพัทลุง โดยไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนผู้ปลูก ไม่มีการตรวจรับรองแปลงปลูกพืช ตามระบบการจัดการคุณภาพ หากจะพูดง่ายๆ คือ ข้าวสังข์หยดที่ปลูกกันโดยทั่วไป

ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวสังข์หยดจีไอ GI ข้าวสังข์หยดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทั้ง 3 ชื่อ หมายถึง ข้าวสังข์หยดที่ผลิตตามระบบการตรวจรับรองการผลิตตามระบบการจัดการคุณภาพ (GAP) และภายใต้เงื่อนไขของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะเรียกกันตามถนัดของแต่ละคน แต่ถ้าให้ถูกต้องจริงๆ ต้องเรียกว่า “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” ขอเน้น มีคำว่าเมืองพัทลุงด้วย เพื่อให้เห็นความแตกต่างทั้งแต่ชื่อ ตลอดถึงคุณภาพด้วย

พร้อมกันนี้ เมืองพัทลุงได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพข้าวสังข์หยดที่ผลิตในท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าของข้าวสังข์หยด เพราะเครื่องหมาย จีไอ เป็นเสมือนเครื่องหมายทางการค้าที่รับรองคุณภาพของข้าวสังข์หยด ส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้แปรรูปในท้องถิ่นได้รักษามาตรฐานสินค้า ส่งเสริมอุตสาหกรรมในท้องถิ่น กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ทั้งยังสร้างชื่อเสียงแก่ชุมชน จังหวัด ตลอดถึงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น

อีกทั้งข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง จะต้องปลูกในพื้นที่จังหวัดพัทลุงเท่านั้น ผู้ผลิตจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ก่อนเริ่มทำการผลิต ซึ่งจะต้องปลูกข้าว ในฤดูนาปี ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ใช้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ไม่มีสิ่งเจือปน จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง หรือหน่วยงานอื่นที่สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ การเก็บเกี่ยวต้องเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ในระยะพลับพลึง หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว จะต้องเก็บรักษาข้าวให้มีความชื้น 14-15 เปอร์เซ็นต์

นายไพรวัลย์ ชูใหม่ นักวิชาการสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ในปีการผลิต 2549/50 เกษตรกรในจังหวัดพัทลุง เข้าร่วมโครงการ 229 ราย พื้นที่ปลูก 342 แปลง เนื้อที่ 1,820 ไร่ ในอำเภอเมืองพัทลุง เขาชัยสน ควนขนุน ปากพะยูน และบางแก้ว เก็บเกี่ยวผลผลิต ตั้งแต่ปี 2550 ได้ 634.8 ตัน

พอปีการผลิต 2550/2551 เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 22 กลุ่ม เกษตรกร 405 ราย พื้นที่ปลูก 2,549 ไร่ (ในพื้นที่ 5 อำเภอ เช่นเดียวกับปี 2549/2550) มีการตรวจประเมินตามมาตรฐานการจัดการคุณภาพ GAP และ ข้อกำหนด GI ปรากฏว่า มีเกษตรกร 365 ราย พื้นที่ปลูก 2,474 ไร่ ที่ผ่านการตรวจประเมิน และมีการรับสมัครโรงสีแปรรูปข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง มีโรงสีที่ผ่านการตรวจประเมินจากคณะกรรมการ จำนวน 4 โรง คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเขากลาง โรงสีโชคจาฤมล วิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวชุมชนตำนาน และสหกรณ์การเกษตรแม่บ้านภักดีร่วมใจจำกัด

ปีการผลิต 2551/2552 เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 6 ตำบล 5 อำเภอ พื้นที่ 1,800 ไร่ ผลิตได้ 654 ตัน มีโรงสีผ่านการประเมิน 3 โรง คือ โรงสีสหกรณ์การเกษตรแม่บ้านภักดีร่วมใจจำกัด เลขที่209 หมู่ที่ 6 ตำบลดอนประดู่ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง08-1098-9686 โรงสีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเขากลาง เลขที่ 7 หมู่ที่ 13 ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 08-7286-6446 และโรงสีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวซ้อมมือบ้านปาบ เลขที่ 4 หมู่ที่ 7 ตำบลเขาเจียก อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง 08-1368-1381

ด้าน นายอัครเดช จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง เกี่ยวกับการขยายพื้นที่ปลูกข้าวสังข์หยด GI ที่ขยายพื้นที่ปลูกออกไปค่อนข้างน้อย ทราบว่า ด้านปริมาณเมล็ดพันธุ์ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสังข์หยด ปีละ 50 ตัน จะสามารถปลูกในพื้นที่ประมาณ 3,000ไร่ ทางศูนย์ฯ สามารถขยายการผลิตได้อีก แต่ต้องมีการวางแผนร่วมกันกับเกษตรกรที่ต้องการเมล็ดพันธุ์ล่วงหน้า 1 ฤดูกาล และเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจประเมินแปลงปลูก มีน้อย และอีกส่วนหนึ่งคือความพร้อมของเกษตรกรเองที่จะผลิตตามมาตรฐาน ทั้งจีไอ และ จีเอพี



กำลังโหลดความคิดเห็น