นครศรีธรรมราช – เจ้าอาวาสและชาวบ้านควนชะลิก อ.หัวไทร นำกระดูกสัตว์ใหญ่ลึกลับส่งสำนักโบราณคดีตรวจสอบ หลังพบกระดูกดังกล่าวในหนองน้ำ ผู้เชี่ยวชาญระบุเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคาดเป็น “กระทิงโบราณ” อายุหลายร้อยปี
วันนี้ (29 ก.ย.) พระครูสันติคุณาธาร เจ้าอาวาสวัดผาสุการาม นายวิไล แก้วรัตน์ นายก อบต.ควนชะลิก อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยนางกิ้มอิ้น นุ่นชูคัน อายุ 69 ปี อยู่ 5/1 ม.1 ต.ควนชะลิก อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ได้นำเอาเอากระดูกสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเป็นสัตว์ชนิดใด แต่เชื่อว่าเป็นสัตว์สมัยโบราณจำนวนมากเข้าพบกับเจ้าหน้าที่โบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เพื่อให้มีการตรวจสอบว่าสัตว์ดังกล่าวนั้นเป็นสัตว์ชนิดใดและมีอายุมากน้อยแค่ไหน
นางกิ้มอิ้น นุ่นชูคัน อายุ 69 ปี เปิดเผยว่า กระดูกดังกล่าวนี้ลูกหลานได้พบในขณะที่ลงไปสูบน้ำในหนองน้ำ ม.3 ต.ควนชะลิก อ.หัวไทร เพื่อนำน้ำเข้าเลี้ยงนาข้าว ปรากฏว่า เมื่อสูบน้ำจนหมดหนองน้ำ ได้เตรียมที่จะจับปลาจึงลงไปจับปลา และเหยียบกระดูกที่โผล่ขึ้นมาจากดินดานก้นหนองน้ำ จึงช่วยกันขุดอย่างต่อเนื่องพบกระดูกสัตว์จำนวนมากและเป็นสัตว์ใหญ่อย่างแน่นอน ทั้งเชื่ออีกว่าน่าจะเป็นสัตว์ใหญ่ในสมัยโบราณ จึงนำมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นสัตว์ชนิดใด
อย่างไรก็ตาม ต่อมาผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 14 ได้นำเอากระดูกดังกล่าวมาเรียงหมวดหมู่ตามลักษณะทางกายภาพ พบว่า สัตว์ดังกล่าวนั้นมีขนาดใหญ่ และเมื่อตรวจสอบพบว่ามีฟันหลายซี่ลักษณะซี่ฟัน และโครงสร้างอยู่ในประเภทสัตว์เคี้ยวเอื้อง เลี้ยงลูกด้วยนม เชื่อว่าเป็นสัตว์ประเภทกระทิงยังไม่สามารถประเมินอายุได้
ทั้งนี้ เนื่องจากต้องมีกรรมวิธีตรวจในทางวิทยาศาสตร์ แต่สันนิษฐานว่า กระดูกดังกล่าวนั้นอยู่ในระหว่างอายุประมาณหลายร้อยจนถึงพันปี และเมื่ออยู่ใต้น้ำในชั้นดินดานความชื้นและดินโคลนจึงสามารถยังรักษาสภาพกระดูกได้อย่างสมบูรณ์ค่อนข้างมาก แต่ถ้าตรวจสอบพบกะโหลก จะสามารถยืนยันลักษณะได้อย่างชัดเจน เบื้องต้นนั้น น่าเชื่อว่าจะเป็นกระทิงโบราณที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ละแวกนั้น
สำหรับพื้นที่ดังกล่าวนั้นเดิมเป็นพื้นที่ป่าพรุเชื่อมต่อกับป่าชายเลน ตามหลักฐานหลายอย่างที่ปรากฏนั้นมีสัตว์ใหญ่อาศัยอยู่จำนวนมากเช่นช้างโบราณ แต่เมื่อมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มากขึ้นทำให้การหักร้างถางพงทำนามาตั้งแต่ครั้งโบราณทำให้ป่าพรุค่อยๆเสื่อมสภาพกลายเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา หลายครั้งจึงพบหลักฐานโครงกระดูกสัตว์ขนาดใหญ่ตามหนองน้ำโบราณบ่อยครั้ง