xs
xsm
sm
md
lg

พัทลุง-นักหุ้มโพนมือฉกาจ สร้างตำนานสืบทอดบรรพบุรุษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง - นักหุ้มโพนมือฉกาจ สร้างตำนานสืบทอดบรรพบุรุษ ผันเป็นอาชีพหลักส่งจำหน่ายทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้


“โพน” เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวจังหวัดพัทลุง ซึ่งใช้เรียกชื่อเครื่องดนตรีพื้นบ้านชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายกลองขนาดใหญ่ มีสามขา เมืองพัทลุงในอดีตการติดต่อหรือแจ้งข่าวสารมีความลำบากมาก ชาวบ้านจะต้องอาศัยเสียงโพนจากวัด เป็นสัญญาณบอกเวลาและเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เวลาพระฉันภัตตาหารเพล เวลาบอกเหตุร้ายแก่ชาวบ้าน หรือมีภารกิจอื่นๆ

โพนเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายกลองทัดทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เหนียวไม่แตกง่าย เช่น ไม้ตาลโตนด ไม้ตะเคียนทอง ไม้พะยอม ไม้ขนุน และไม้จำปาดะ ซึ่งไม้ที่ทำให้โพนมีเสียงดีมาก คือ ไม้ตะเคียนทอง แต่ปัจจุบันหายากและมีราคาแพง ตัวโพนจะต้องมีการขุดเจาะ หน้าโพนนิยมหุ้มด้วยหนังควายและหนังวัวทั้งสองหน้า มีขาตั้งจำนวน 3 ขา ตีด้วยไม้เนื้อแข็งทั้ง 2 มือ ซึ่งทำจากไม้เสาดำและไม้หลุมพอ

นายกล่อม ชูแก้ว อายุ 62 ปี นักหุ้มโพนมือฉกาจ อยู่บ้านเลขที่ 45 ม.3 ต.ปรางหมู่ อ.เมือง จ.พัทลุง กล่าวว่า ตนเริ่มทำโพนมาประมาณ 6 ปีแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเชื้อสายและเครือญาติต่างได้ทำโพนกันมาก่อน และเมื่อตอนอายุได้ประมาณ 20 ปีเศษ ตนได้ใช้ชีวิตอยู่กับการทำโพนมาโดยตลอดทั้งการเดินสายตามงานต่างๆ และการเข้าแข่งขันตีโพนจนได้รับรางวัลชนะเลิศมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 1 ได้รับรางวัลชนะเลิศเมื่อปี 2513 ณ สนามวัดโคกเนียน ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง และครั้งที่ 2 ได้รับรางวัลชนะเลิศเมื่อปี 2514 ณ สนามศาลาบ้านเขาเจียก ต.เขาเจียก อ.เมือง จากรางวัลชนะเลิศดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้ตนทำอาชีพโพน ทั้งผลิตเพื่อจำหน่ายและผลิตเพื่อทำการแข่งขัน ประกอบกับลูกๆ ให้การสนับสนุน เพราะมีใจรักเช่นเดียวกับตน จึงทำให้ตนทำอย่างจริงจังและทำเป็นอาชีพหลักจนถึงปัจจุบัน

สำหรับขั้นตอนการทำนั้นไม่ยาก แต่จะต้องจัดหาไม้เนื้อแข็งให้ได้ตามที่ต้องการ ตัดเป็นท่อนแล้วตากให้แห้ง ทำการไสกบ ขุดเจาะภายในเพื่อทำอกไก่และขอบขัน พอได้ขนาดตามที่ต้องการก็นำมาเจาะรูลูกสลัก หลังจากนั้นเตรียมหนังควา โดยการตัดเป็นรูปวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 ซม. ขึ้นอยู่กับขนาดโพนที่ต้องการ แล้วนำไปแช่น้ำไว้ประมาณ 36 ชม. หลังจากนั้นนำหนังควายที่แช่น้ำได้ที่แล้ว มาทำการตีให้นิ่ม หรือภาษาโพนเรียกว่าการฆ่าหนัง แล้วทำการเจาะรูเพื่อร้อยเหล็ก

ต่อมานำไม้ที่ไสกบไว้หรือตัวโพนมาวางตั้งบนเตา นำหนังควายที่ร้อยด้วยเหล็กมาคลุมด้านบน เพื่อทำการดึงด้วยคันเบ็ด ยิ่งดึงให้หนังควายตึงเท่าไหร่เสียงก็จะดังดีตามไปด้วย เสร็จแล้วก็ผึ่งแดดไว้ประมาณ 3 วัน เพื่อให้หนังควายแห้งและอยู่ตัว เมื่อหนังควายแห้งก็ใช้ลูกหมูขัดขนออก ใส่ปลอกเหล็กและนำสลักมาตอกเพื่อทำการยึดหนังควายไว้จนรอบตัวโพนเป็นอันเสร็จ ส่วนด้านล่างก็ใช้วิธีการเดียวกัน

นายกล่อมยังกล่าวอีกว่า สำหรับโพนของตนนั้นล่าสุดได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2548 ชื่อโพนดาวเหนือ ส่วนในปี 2552 นี้จากผลการแข่งขันรอบคัดเลือกทั้ง 4 สนาม โพนในสังกัดของตนได้รับรางวัลชนะเลิศจำนวน 10 ใบด้วยกัน อาทิ โพนขนาดเล็กรุ่นเยาวชนจำนวน 1 ใบ โพนขนาดเล็กรุ่นประชาชนจำนวน 2 ใบ โพนขนาดกลางจำนวน 4 ใบ และโพนขนาดใหญ่จำนวน 3 ใบ ทั้งนี้ทางตนมีความคาดหวังว่า รอบคัดเลือกระดับจังหวัดซึ่งจะทำการแข่งขันในระหว่างวันที่ 28 ก.ย. - 5 ต.ค.52 นี้ โพนขนาดกลางจะติด 1 ใน 10 และได้รับรางวัลชนะเลิศรับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างแน่นอน

ส่วนด้านธุรกิจนั้นขณะนี้โพนของตนมีชื่อเสียงมาก ส่งจำหน่ายไปยัง 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งโพนขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 38 ซม. ราคา 5,000 บาทต่อใบ โพนขนาดกลางเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 48 ซม. ราคา 7,000 บาทต่อใบ และโพนขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่49 ซม.ขึ้นไป ราคา 8,000-15,000 บาทต่อใบ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นวัดต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อนำไปใช้ในงานประเพณีลากพระ บ้างก็จะนำไปแขวนที่หอระฆัง และเพื่อใช้ตีบอกเวลาในการฉันภัตราหาร จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบกับทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่ แปรเป็นสินค้าที่มีคุณภาพจนเป็นที่ต้องการของตลาด ในที่สุดผันมาเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัว

นายกล่อมยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนในอนาคตนั้นตนไว้วางแผนไว้ว่าจะให้บรรดาเหล่าลูกๆ ทั้ง 4 คน สืบทอดเจตนารมณ์ต่อ ส่วนบุคคลภายนอกที่สนใจตนก็ยินดีสอนให้โดยไม่หวงวิชาทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาแต่บรรพบุรุษให้คงอยู่คู่กับลูกหลานสืบไป ในช่วงเดือน 10 ย่างเข้าเดือน 11 ซึ่งเป็นช่วงใกล้ออกพรรษา เสียงโพนตามวัดต่างๆ ดังกระหึ่มก้องไปทุกหมู่บ้าน เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าใกล้ถึงวันลากพระ และความสนุกสนานของชาวบ้านก็เริ่มขึ้น จึงพอจะทราบได้ว่าโพนเป็นส่วนหนึ่งของชาวเมืองพัทลุงมาแต่โบราณ และเป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองพัทลุงมาจนถึงปัจจุบัน







กำลังโหลดความคิดเห็น