xs
xsm
sm
md
lg

หาอายุ "ปราสาทพนมรุ้ง" ด้วยเข็มทิศกับ เด็กไทย-แขมร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเรียนไทยกัมพูชาร่วมกิจกรรมหาอายุปราสาทพนมรุ้ง
ไม่ต้องมีเครื่องมือซับซ้อน เราก็สามารถคำนวณอายุคร่าวๆ ของ "ปราสาทพนมรุ้ง" ปราสาทหินอายุนับพันปีได้ด้วยเข็มทศอันเดียว หากเราเข้าใจในเรื่องตำแหน่งดวงดาว เช่นเดียวกับกิจกรรมที่ร่วมกันทดลองระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนจากกัมพูชา

จากความรู้ที่ว่า "ดาวเหนือ" ในทุกวันนี้ กับดาวเหนือในอดีตนั้น เป็นคนละดวงกันเนื่องจากแกนโลกที่ส่ายๆ อยู่ตลอดเวลา ผนวกเข้ากับข้อสังเกตที่ว่า หาก "ปราสาทพนมรุ้ง" ที่ตั้งอยู่บนภูเขาถูกออกแบบมาเพื่อบูชาสุริยเทพ แล้วเหตุใดวันที่แสงแดดส่องผ่านประตู 15 ช่อง จึงมีถึง 4 วัน และไม่ตรงกับวันอิควินอกซ์ (Equinox) ซึ่งเป็นวันที่กลางวัน-กลางคืนยาวเท่ากันและดวงอาทิตย์ยังขึ้น-ตกตรงตามทิศตะวันออกและทิศตะวันตกพอดี ซึ่งมีเพียงปีละ 2 ครั้ง คือตรงกับวันที่ 21 มี.ค. และ 22 ก.ย. จึงนำไปสู่การหาอายุปราสาทหินด้วย "เข็มทิศ" อันเดียว

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) นำคณะนักเรียนไทยในโครงการของลีซาและนักเรียนไทยจาก จ.สุรินทร์ พร้อมด้วยตัวแทนนักเรียนกัมพูชา จาก จ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ร่วม 30 คน เดินทางไปปราสาทพนมรุ้งซึ่งตั้งอยู่ยนเขาใน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เพื่อทำกิจกรรมคำนวณหาอายุปราสาทหินด้วยเข็มทิศ ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนที่ผ่านมา ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมเดินทางไปด้วย

การทดลองเริ่มขึ้น ด้วยการใช้เข็มทิศซึ่งแปะติดกับกระดาษที่มีสเกลบอกมุม 90 องศา ทาบกับขอบหินของปราสาทหรือเส้นแนวเหนือ-ใต้ หรือ ตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งเป็นเส้นที่ช่างสมัยโบราณขีดลงบนก้อนหินที่ใช้สร้างปราสาทเพื่อกำหนดทิศในการว่างตัวของปราสาท ทั้งนี้ใช้เข็มทิศวัดมุมเพื่อดูว่าแนวของปราสาทที่ตั้งในแนวเหนือ-ใต้ของอดีตต่างไปจากทิศเหนือในปัจจุบันกี่องศา โดยแบ่งกลุ่มนักเรียนทั้งหมดออกเป็น 9 กลุ่ม และกระจายกันสุ่มวัดมุมตามจุดต่างๆ ของปราสาททั้งหมด 10 จุด

ผลจากการวัด เมื่อนำข้อมูลจากทุกกลุ่มมาเฉลี่ยพบว่า แนวเหนือ-ใต้ของปราสาทนั้นต่างไปจากทิศเหนือของปัจจุบัน 6 องศา ซึ่งเมื่อใช้โปรแกรมทางดาราศาสตร์ดูย้อนกลับไปว่าที่ดาวเหนืออยู่ในตำแหน่งดังกล่าวนั้นผ่านมาแล้วกี่ปี พบว่าปราสาทพนมรุ้งมีอายุ 1,000 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับการประมาณอายุโดยอาศัยหลักฐานทางโบราณคดีที่ระบุว่าปราสาทมีอายุราว 900-1,000 ปี

น.ส.พัชรวรรณ สิริสกุลเรืองกิจ ซึ่งเพิ่งจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนศึกษานารี ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำของการทดลองนี้ อธิบายให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฟังว่า การที่ตำแหน่งเหนือ-ใต้ของปราสาทในอดีตเอียงไปจากทิศเหนือในปัจจุบันนั้นเนื่องจากแกนโลกส่าย ซึ่งนอกจากแกนโลกจะเอียง 23.5 องศาแล้ว แกนโลกยังหมุนรอบตัวเองเป็นวงกลม โดยจะหมุนครอบ 1 รอบในทุกๆ 26,000 ปี ทำให้ตำแหน่งที่ชี้ไปยังดาวเหนือนั้นเปลี่ยนไปจากอีดต

"การที่แสงอาทิตย์ส่องผ่านประตุ 15 ช่องนั้น หลายคนมองเป็นเรื่องของความเชื่อ แต่เราสามารถนำปรากฏการณ์ดังกล่าวมาเป็นจุดสังเหตในการคำนวณหาอายุปราสาทได้ โดยมีแค่เข็มทิศอันเดียว" น.ส.พัชรวรรณให้ความเห็น และให้ข้อมูลเพิ่มว่าวันที่มีปราฏการณ์แสงอาทิตย์ลอดผ่าน 15 ประตูมีอยู่ 4 วันคือ ในเดือน มี.ค., เม.ย., ก.ย.และ ต.ค. เดือนละ 1 วัน

ทางด้าน น.ส.กีรติกา สุขสีทอง ซึ่งเพิ่งจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเชียงราย ผู้รับหน้าที่เป็นหัวหน้ากิจกรรมครั้งนี้ของลีซา ช่วยย้ำกับทีมข่าววิทยาศาสตร์อีกครั้งว่า กิจกรรมครั้งนี้ใช้เข็มทิศเป็นอุปกรณ์หลักในการวัดมุมปราสาทพนมรุ้ง

นอกจากนั้นก็ยังมีการเชื่อมความสัมพันธ์กับนักเรียนจากกัมพูชาด้วย โดยในส่วนของนักเรียนไทยได้ฝึกพูดภาษาเขมรในส่วนที่จำเป็นต่อการสนทนาด้วย แต่เมื่อพบกันจริงๆ ก็ยังคงสื่อสารกันได้ลำบาก นับว่าภาษาค่อนข้างเป็นอุปสรรค แต่ครั้งนี้ก็ได้ว่านักเรียนกัมพูชามีความตั้งใจที่จะเรียนรู้

ส่วนนายสุวอน เซียน นักเรียนเกรด 12 จากโรงเรียนฮุนเซนอุดรมีชัย จ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ซึ่งเดินทางมาร่วมกิจกรรมหาอายุปราสาทพนมรุ้งโดยอาศัยความรู้ทางดาราศาสตร์และเข็มเทิศเป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูล กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า กิจกรรมนี้ทำให้ทราบว่าปราสาทพนมรุ้งนั้นเอียงไปจากทิศเหนือกี่องศา และนำไปคำนวณหาเป็นอายุปราสาทได้ แต่ทั้งนี้เขาก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่นัก แต่อย่างน้อยก็ได้ทราบว่าจะใช้เข็มทิศอย่างไร

"เปรียบกับนครวัดแล้ว นครวัดใหญ่โตกว่าและมีรูปสวยกว่ากว่า อีกทั้งคนจากทั่วโลกรู้จักนครวัดมากกว่า ส่วนตัวผมเองก็เพิ่งรู้จักพนมรุ้ง ซึ่งเมื่อกลับถึงบ้านผมก็จะเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่าเขาพนมรุ้งนั้นเป็นอย่างไร" เซียนพยายามให้ความเห็นด้วยภาษาไทยอันกระท่อนกระแท่น

สำหรับ ด.ญ.มุมตัซ เชตเตอร์โมฮามัด นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ซึ่งเดินทางไกลจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมกิจกรรมทางดาราศาสตร์ครั้งนี้ กล่าวว่านอกจากดาราศาสตร์แล้วยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในแบบที่ยะลาไม่มี รวมทั้งเรื่องความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับพนมรุ้ง ซึ่งคาดว่าจะนำการทดลองนี้ไปประยุกต์ใช้กับการมัสยิดอย่างมัสยิดกรือเซะที่ จ.ปัตตานีได้ เนื่องจากสร้างมาแล้วหลายร้อยปีเช่นกัน

"การทดลองนี้ได้พิสูจน์ว่านักโบราณคดีประมาณอายุของปราสาทไว้เท่านี้แล้ว เราจะสามารถคำนวณอายุปราสาทได้เหมือนกันหรือไม่ด้วยวิธีทางดาราศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้และใช้ชีวิตรวมกับเพื่อนๆ จากกัมพูชาและพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันด้วย" ด.ญ.มุมตัซให้ความเห็น

นักเรียนไทยใช้เข็มทิศทาบบนเส้นแบ่งชี้ตะวันออก-ตก
เข็มทิศที่แปะติดกระดาษแข็งที่มีสเกลบอกมุม 90 องศา
โคซึ่งแสดงการสักการะเทพพระเจ้า
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์


น.ส.พัชรวรรณ สิริสกุลเรืองกิจ (ซ้าย) นายสุวอน เซียน (ขวา)
น.ส.กีรติกา สุขสีทอง (ซ้าย) ด.ญ.มุมตัซ เชตเตอร์โมฮามัด (ขวา)
กำลังโหลดความคิดเห็น