ศูนย์ข่าวภูเก็ต - โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตนำเสนอผลงานวิจัยการบำบัดรักษาเด็กออทิสติก โดยใช้เครื่องควบคุมปรับแรงดันให้มีออกซิเจนความดันสูง หรือ HBOTระบุทำเป็นแห่งแรกของประเทศ ใช้รักษามาแล้ว 7 รายพบประสบความสำเร็จเด็กมีอาการดีขึ้น
วันนี้ (23 ก.ย.) นายแพทย์เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต หนึ่งในทีมแพทย์ที่ทำการวิจัยการรักษาด้วยออกซิเจนความดันสูง หรือ Hyperbaric Oxygen Therapy หรือ HBOT สำหรับเด็กออทิสติกในประเทศไทย กล่าวในการประชุมสัมมนาวิชาการ การรักษาบำบัดทางเลือกสำหรับเด็กออทิสติก ซึ่งกลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตจัดขึ้นที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เนื่องในวันมหิดล โดยมีผู้ปกครอง แพทย์ เข้าร่วมจำนวนมากว่า ปัจจุบันพบว่ามีเด็กพิเศษ หรือเด็กออทิสติกเกิดขึ้นจำนวนมากในสหรัฐฯ จากการสำรวจพบว่าเด็ก 150 คน จะป่วยเป็นโรคนี้จำนวน 1 คน
โดยขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้เด็กเป็นโรคนี้ ซึ่งการรักษานั้นมีหลายวิธีการทั้งเรื่องของการใช้ ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด การจัดเรียงกระดูก รวมถึงการใช้สัตว์บำบัด ซึ่งการจะบำบัดด้วยวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับผู้ปกครองในการตัดสินใจ
ในส่วนของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเองได้เปิดบริการคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุน รวมทั้งเปิดคลินิกกระตุ้นการพัฒนาการ ซึ่งจากการเปิดดำเนินการพบว่ามีเด็กมารับบริการจำนวนมาก โดยในส่วนของคลินิกกระตุ้นพัฒนาการในปีงบประมาณ 2551 และ 11 เดือนในปี 2552 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 29 ราย รวมผู้ป่วยที่มีทั้งหมด 135 ราย โดยแบ่งเป็น Autism, ADHD, LD, บุคคลบกพร่องทางสติปัญญาและเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม ซึ่งมีแนวโน้มพบเด็กกลุ่มดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เล็งเห็นความสำคัญของการรักษาเด็กที่เป็นโรคดังกล่าวจึงได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มทางเลือกในการรักษาเด็กที่เป็นโรคนี้ขึ้น ประกอบกับทางโรงพยาบาลมีเครื่อง Hyperbaric Chamber ซึ่งเป็นอุปกรณ์ปรับความดันอากาศสูงเพื่อรักษาโรคน้ำหนีบอยู่แล้ว จึงทำการวิจัย “การรักษาด้วยออกซิเจนความดันสูงสำหรับเด็กออทิสติกในประเทศไทย” ขึ้น ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยโดยการรักษาด้วยออกซิเจนความดันสูงครั้งแรกของประเทศไทย และขณะนี้ผ่านแบบทดสอบระดับประเทศแล้ว
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อว่า สำหรับการวิจัยดังกล่าวนั้นขณะนี้อยู่ในขั้นที่ 2 ซึ่งจะใช้แบบทดสอบแบบนานาชาติ ซึ่งการวิจัยเพื่อรักษาโรคดังกล่าวด้วยออกซิเจนความดันสูงสำหรับเด็กออทิสติกนั้นเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 โดยมีเด็กเข้ารับการรักษาจำนวน 7 คน ซึ่งผลการรักษาที่เห็นชัดเจนและแสดงอาการดีตรงกันคือ อย่างชัดเจน 75% เรื่องของการนอนหลับ ด้านความคิด การตัดสินใจ ทักษะทางสังคมรวมทั้งมีบางรายที่มีอาการดีขึ้นในทักษะทางภาษาอย่างชัดเจน
ส่วนผลข้างเคียงนั้นพบว่าเด็กมีอาการปวดหูเล็กน้อยบางรายแต่หายได้เองโดยไม่ต้องให้ยา ส่วนการวิจัยในขั้นที่ 2 ที่ใช้แบบทดสอบนานาชาตินั้นเป็นการดำเนินการในปี 52 ขณะนี้มีเด็กเข้ารับการรักษาจำนวน 8 ราย
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการรักษา ด้วยออกซิเจนความดันสูงสำหรับเด็กออทิสติก หรือ HBOT คือ การรักษาโดยการใช้ความดันเพื่อนำพาออกซิเจนให้ไปสู่เม็ดเลือดแดง, พลาสมา, ของเหลวในสมอง และไขสันหลัง
โดยสภาวะภายใต้ความดันสูง ปอดได้รับออกซิเจนเข้าไปมากขึ้นจากการหายใจทำให้ออกซิเจนละลายเข้าสู่ของเหลวต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างกายมากขึ้นรวมถึงสมอง ซึ่งการบำบัดด้วย HBOT เป็นการบำบัดรักษาชนิดใหม่ในเด็กออทิสติกในประเทศไทย ซึ่งการศึกษาหลากหลายชิ้นทางวิทยาศาตร์สนับสนุนความคิดนี้และแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและการบรรเทาอาการของออทิสติก เชื่อว่าหลังจากที่ผลการวิจัยประสบความสำเร็จจะทำให้โรงพยาบาลอื่นๆนำวิธีการดังกล่าวไปใช้เพื่อรักษาเด็กออทิสติกเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้เริ่มที่จะมีการดำเนินการในบางแห่งแล้ว