ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ห่วงผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงในภาคอีสาน หลังผ่าตัด ต้องพลิกผันเป็นผู้พิการเสียง เหตุตัดกล่องเสียงทิ้งรักษาชีวิต ระบุผู้พิการสื่อสารกับคนทั่วไปไม่ได้ กระทบโดยตรงกับสุขภาพจิตรุนแรง ด้านทีมแพทย์รพ.ศรีนครินทร์ ตระหนักใช้แนวทางแก้ไขแบบครบวงจร ยึดวิธีฝึกออกเสียงด้วยหลอดอาหารช่วยเหลือ มากว่า 25 ปี ขณะที่ทุนทรัพย์หนุนกิจกรรมและค่าพาหนะผู้พิการเสียงไม่เพียงพอ เตรียมจัดคอนเสิร์ต “ธารน้ำใจแด่ผู้ไร้กล่องเสียง” 28 สิงหาคมนี้
ผศ.นพ.ภัทรวุฒิ วัฒนศัพท์ อาจารย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า โรคมะเร็งกล่องเสียงเป็นโรคมะเร็งที่ศีรษะและคอ โดยบทบาทของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ถือเป็นศูนย์กลางการรักษาโรคมะเร็งศีรษะและคอ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงและโรคมะเร็งคอหอยส่วนล่าง เข้ารักษาโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 80 คน
ปัจจัยและสาเหตุของโรคมะเร็งกล่องเสียง สาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ ซึ่งสารพิษในควันบุหรี่ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเซลล์ จนทำให้เกิดมะเร็งกล่องเสียง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเพศชายมากกว่าหญิง โดยสถิติการเกิดโรคจะพบผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง 2 คนต่อประชากร 1 แสนคน และที่น่าสนใจ แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่มารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ไม่ลดลง
จุดที่น่าเป็นห่วง ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง ที่ส่งต่อเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์นั้น มากกว่า 80% ป่วยเป็นมะเร็งระยะลุกลามแล้ว ทำให้การรักษายากลำบาก จำเป็นต้องผ่าตัดกล่องเสียงทิ้งรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ ผู้ป่วยหลังผ่าตัดจึงไม่สามารถพูดได้ แต่หากผู้ป่วยมารักษาในระยะแรก ยังคงรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ ไม่ต้องตัดกล่องเสียงออก
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดกล่องเสียงออกไป จะไม่สามารถพูดได้เหมือนคนปกติทั่วไป ต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูให้สามารถใช้เสียงได้ โดยวิธีรักษาผู้ป่วยให้สามารถกลับมาพูดได้มี 3 วิธีคือ การผ่าตัดเปิดช่องหลอดลม , การฝึกพูดโดยใช้หลอดอาหาร , และการพูดโดยใช้อุปกรณ์กล่องเสียงเทียม โดยการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จะเน้นวิธีฝึกพูดโดยใช้หลอดอาหารเป็นหลัก
ชี้พิการเสียงกระทบการดำรงชีวิต
ชูบำบัดเสียงด้วยสหสาขาวิชาชีพ
ด้านรศ.ดร.เบญจมาศ พระธานี อาจารย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงที่ผ่าตัดรักษาต้องตัดกล่องเสียงออก กลายเป็นผู้พิการเสียงทันที ไม่สามารถสื่อสารด้วยวิธีพูดปกติได้ ที่ผ่านมาผู้พิการเสียง มักประสบปัญหา เกิดความทุกข์ทรมาน กระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิต เพราะ ไม่สามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้ ขอความช่วยเหลือลำบาก ผู้พิการเสียงบางรายถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายก็มี
ขณะเดียวกันผู้ไร้กล่องเสียง ยังมีปัญหาสุขภาพด้านต่างๆ อาทิ การกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งกล่องเสียง การดูแลทางเดินหายใจด้วยตนเอง การดูแลสุขภาพหลังตัดกล่องเสียง การไอและป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ ฯลฯ
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตระหนักถึงปัญหาและมุ่งแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยพิการเสียง สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต ดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข จึงริเริ่มโครงการพัฒนาระบบการฟื้นฟูผู้พิการทางการสื่อสารจากมะเร็งกล่องเสียงแบบครบวงจร มาตั้งแต่ปี 2527
เพื่อดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดมะเร็งกล่องเสียง แบบสหสาขาวิชาชีพ ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมเพียงแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีนักแก้ไขการพูด นักกายภาพบำบัด พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ มาร่วมช่วยเหลือผู้ป่วย ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตามนโยบายของคณะแพทยศาสตร์และตามพระราชบัญญัติคนพิการแห่งประเทศไทย
สำหรับการอบรมและฝึกพูดด้วยหลอดอาหารนั้น จะต้องฝึกเรอ ให้ลมออกจากหลอดอาหารเป็นเครื่องมือในการออกเสียง รูปแบบการอบรม จะมีวิธีฝึกพูดแบบตัวต่อตัว โดยนักแก้ไขการพูด พยาบาล และผู้ไร้กล่องเสียงที่พูดด้วยหลอดอาหารได้คล่องแล้ว มาอบรมให้ ทั้งจะมีการจัดอบรมฝึกพูดเป็นกลุ่ม แบ่งระดับความสามารถของผู้ป่วยแต่ละคน และมีวิทยากรประจำกลุ่ม
รศ.ดร.เบญจมาศ กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปผู้ป่วยพิการเสียง จะเดินทางมาอบรมฝึกพูดที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะสามารถออกเสียงหรือพูดโดยหลอดอาหารได้ โดยปกติการอบรมจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน ผู้ป่วยจะสามารถเรอออกมาได้ ส่วนผู้ป่วยที่สามารถกลับมาใช้เสียงด้วยหลอดอาหารได้นั้น มีประมาณ 70% ขึ้นอยู่กับเนื้อมะเร็งกล่องเสียงด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้การรักษาผู้พิการเสียงให้กลับมาใช้เสียงด้วยหลอดอาหารได้นั้น จะมีสวัสดิการรัฐช่วยเหลือ ทั้งสิทธิ์จ่ายตรง ประกันสังคม หรือบัตรทอง แต่ค่าพาหนะเดินทางของผู้พิการเสียงมาฝึกพูดที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ รวมถึงเบี้ยเลี้ยงจ่ายครูฝึก และค่าใช้จ่ายอื่น ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายนอกเหนือการใช้สิทธิ์ เป็นภาระผู้ป่วยพิการเสียงและครอบครัว ในหลายจังหวัดภาคอีสานที่มีฐานะค่อนข้างยากจน
เตรียมจัดคอนเสิร์ตธารน้ำใจแด่ผู้ไร้กล่องเสียง
สำหรับการช่วยเหลือ ได้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือขึ้นมา โดยที่มาของเงินช่วยเหลือได้จัดคอนเสิร์ตสมทบกองทุนไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้เงินกองทุนเริ่มหมดลง ไม่เพียงพอต่อกิจกรรมช่วยเหลือ ทางโครงการพัฒนาระบบการฟื้นฟูผู้พิการทางการสื่อสารจากมะเร็งกล่องเสียงและชมรมผู้ไร้กล่องเสียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงร่วมกันจัดคอนเสิร์ตการกุศลดนตรีสร้างสุข “ธารน้ำใจแด่ผู้ไร้กล่องเสียง ครั้งที่ 2” ในวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคมนี้
ณ ห้องประชุมมอดินแดง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อหาทุนทรัพย์สนับสนุนค่าพาหนะและการจัดกิจกรรม ด้านการดูแลตนเอง การให้กำลังใจ การให้คำแนะนำปรึกษา ทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจและสังคมกับผู้ป่วยพิการเสียง อีกทั้งเป็นกิจกรรมสร้างความสุข ผ่อนคลายให้แก่ผู้ไร้กล่องเสียงและผู้ร่วมกิจกรรมด้วย
รูปแบบคอนเสิร์ตครั้งนี้ เป็นแบบดนตรีบำบัด โดยไฮไลท์ของงาน ได้รับเกียรติจากนักดนตรีบำบัด Kana Kamitsubo นักเปียร์โนและนักดนตรีบำบัดมืออาชีพระดับโลก จาก สหรัฐอเมริกา จะมาเล่นดนตรีบำบัด พร้อมด้วยอังศณา ช้างเศวต และที่สำคัญมีผู้ไร้กล่องเสียงมาร่วมร้องบทเพลงด้วยหลอดอาหาร ภายในเวทีคอนเสิร์ตนี้ด้วย
สำหรับผู้สนใจร่วมกิจกรรมคอนเสิร์ตการกุศลครั้งนี้ สามารถติดต่อซื้อบัตรชมคอนเสิร์ต ได้ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร 043-348396 หรือผู้สนใจต้องการร่วมบริจาคทุนทรัพย์ช่วยเหลือกิจกรรมชมรมผู้ป่วยพิการไร้กล่องเสียงได้ที่ กองทุนชมรมผู้ไร้กล่องเสียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 551-291456-7 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยขอนแก่น