xs
xsm
sm
md
lg

ม.มหิดล แนะใช้ดนตรีสยบอ้วน ชี้จิตใจคุมพฤติกรรมการกินอยู่หมัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้เชี่ยวชาญด้านเบาหวานชี้หากคุมน้ำหนักได้ ช่วยลดอัตราตายจากโรคอ้วน 50% ขณะที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะใช้ดนตรีสยบโรคอ้วน ส่งผลให้ร่างกาย จิตใจเปลี่ยนพฤติกรรมการกินได้อยู่หมัด

นพ.ลุค แวน แกล (Luc Van Gaal) ผู้เชี่ยวชาญด้านเบาหวานและเมตาบอลิซึม จากประเทศเบลเยียม กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกป่วยด้วยโรคอ้วนจนเป็นวิกฤตที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ประชากรทั่วโลกมีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์มาตฐาน 30-50% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อน อาทิ โรคไข้มันในเลือดผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ สาเหตุมาจากการไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน อีกทั้งแนวทางการรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีต่างๆ ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร หากประชากรทั่วโลกสามารถควบคุมน้ำหนักได้จะช่วยลดอัตราการตายจากโรคอ้วนได้มากถึง 50% จากการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ยาที่ผลิตขึ้นมาใหม่เพื่อรักษาโรคอ้วนในปัจจุบันนั้น สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ถึง 10% ของน้ำหนักตัว เมื่อเทียบกับยาชนิดเก่า และยังมีความปลอดภัยสูง แต่ทั้งนี้ยาลดน้ำหนักเป็นเพียงการรักษาเสริม ซึ่งผู้ป่วยต้องควบคุมอาหารและหมั่นออกกำลังกายก่อนเสมอ

นพ.ลุค แวน แกล กล่าวต่อว่า ยาลดความอ้วนจะถูกแบ่งตามกลุ่มที่มีผลต่อความสมดุลของพลังงานในร่างกาย ได้แก่ 1.ยาที่กระตุ้นไม่ให้อยากอาหาร 2.ยาที่กระตุ้นให้เกิดการเผาผลานสามารถช่วยย่อยไขมันในร่างกาย 3.ยาที่ออกฤทธิ์ต่อส่วนประสาท ทั้งนี้การเลือกซื้อยามารับประทานจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ยาโดยตรง ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง ซึ่งคุณสมบัติของยาลดความอ้วน ต้องเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตาม ขนาดของยาที่เลือกใช้ โดยไม่มีผลข้างเคียง และต้องออกฤทธิ์อยู่ได้นาน ไม่ทำให้เกิดการติดยาตามมา รวมทั้งไม่ทำให้เกิดพิษจากยาเมื่อใช้ไปนานๆ เนื่องจากยาที่มีความปลอดภัยต้องเป็นยาที่ออกฤทธิ์ผ่านทางส่วนกลางของร่างกายแต่ไม่ไปกระตุ้นการปลดปล่อยส่วนจดจำของระบบประสาท

ด้าน ผศ.รุ่งชัย ชวนไชยะกูล รองเลขาธิการเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวว่า นอกจากการใช้ วิธีรักษาโรคอ้วนด้วยยาแล้ว เครือข่ายคนไทยไร้พุง ยังมีจัดกิจกรรมลดความอ้วนด้วยดนตรีบำบัด หรือมิวสิก เธอราปี (Music therapy) โดยวงออเคสตรา จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัย มหิดล เพราะการศึกษาวิจัยพบว่าดนตรีมีผลต่อร่างกาย สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น อัตราการหายใจ ความดันโลหิต ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ การไหลเวียนของเลือด และการใช้ดนตรีบำบัดสามารถกล่อมให้ผู้ฟังมีจิตใจโอนเอียง คล้อยตามคำแนะนำของนักโภชนาการ และเปลี่ยนพฤติกรรมการกินได้ เนื่องจากคนอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ต้องการลดอาหาร แต่ร่างกายและจิตใจส่วนหนึ่งยังไม่พร้อม ทำให้มีพฤติกรรมการกินเหมือนเดิม แต่การใช้ดนตรีบำบัดจะช่วยให้ร่างกาย จิตใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน

นพ.ฆนัท ครุธกูล ผู้จัดการศูนย์หัวใจ หลอดเลือด และเมทแทบอลิซึม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า คนเราเมื่อได้ยินเสียงดนตรี สมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่รับรู้ถึงจังหวะง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ขณะที่สมองซีกขวาจะรับรู้ถึงท่วงทำนอง ระดับเสียงต่ำ เสียงสูง แล้วเก็บไว้เป็นความทรงจำเพื่อเรียนรู้และฝึกฝน อย่างไรก็ตาม การใช้ดนตรีบำบัดไม่มีรูปแบบที่ตายตัว นักดนตรีบำบัดจะเป็นผู้ออกแบบบำบัดตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยการเริ่ม ประเมินผู้เข้ารับการบำบัด เพื่อเลือกใช้เสียงดนตรี เช่น ฟังดนตรีเพียงอย่างเดียว และเปิดดนตรีร่วมกับการสร้างจินตนาการ หากใครสนใจใช้บริการดนตรีบำบัดสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือสอบถามรายละเอียดโทร. 0-2800-2525 ต่อ 209
กำลังโหลดความคิดเห็น