ศูนย์ข่าวภูเก็ต - อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง รับฟังปัญหาการปฎิบัติงานของข้าราชการในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เพื่อนำปัญหาไปแก้ไขสู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมเน้นย้ำการก่อสร้างอาคารในเมืองท่องเที่ยวต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ
เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (8 ก.ย.) ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายอุดม พัวสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานการประชุมเพื่อทบทวนการปฎิบัติงานและรับฟังปัญหาการทำงาน ของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดในกลุ่ม 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ประกอบด้วย จ.ภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชุมพร
ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงแก้ไข เสริมขีดสมรรถนะการทำงานของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด และบูรณาการประสานการทำงาน ระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อันจะส่งผลให้การทำงานของกรมฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี
นายอุดมกล่าวถึงการทำโครงการดังกล่าวว่า เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการทำงานระหว่างกัน โดยเฉพาะในส่วนของข้อบกพร่องต่างๆ ที่เป็นปัญหา เพื่อจะได้นำไปปรับแก้ไขให้การทำงานของกรมโยธาธิการและผังเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในปี 2553 ให้เป็นกรมที่มีสมรรถนะสูง เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ 3 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์การผังเมือง ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองและยุทธศาสตร์อาคาร
นายอุดมกล่าวว่า แม้จะมีการางยุทธศาสตร์ในการบริหารงานไว้อย่างชัดเจน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในแต่ละยุทธศาสตร์นั้นก็ยังมีปัญหาที่จะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์การผังเมือง ซึ่งจะเป็นการกล่าวถึงเรื่องของการผังเมืองทั้งหมด ตั้งแต่ผังประเทศ ผังภาค ผังเมืองรวมจังหวัด ผังเมืองเฉพาะ ตลอดจนผังชุมชน แต่ปรากฎว่าไม่มีการตรวจสอบเรื่องของอายุการบังคับใช้ ซึ่งบางพื้นที่ก็ปล่อยให้หมดอายุไปโดยที่ไม่มีการต่อ และอ้างว่ามอบให้ท้องถิ่นดูแล เป็นต้น เพื่อให้สามารถเกิดการปฎิบัติได้อย่างแท้จริง
ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาเมือง หมายความ คือมีผังเมืองแล้ว แต่จะทำอย่างให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ วึ่งจะต้องมีการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบน้ำเสีย ระบบขยะ เครือข่ายคมนาคม หรือแม้กระทั่งเรื่องสาธารณูปโภคสาธารณูปการต่างๆ และยุทธศาสตร์สุดท้าย การอาคาร ซึ่งกรมโยธาฯ จะต้องดูแลควบคุมให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แม้ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจจะมีเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล อนุญาต อนุมัติ แต่กรมโยธาฯ ก็เปรียบเหมือนเป็นหน่วยงานพี่เลี้ยงที่จะต้องคอยกำกับดูแล และพบว่ายังมีปัญหาอีกมาก
อย่างไรก็ตาม นายอุดมกล่าวด้วยว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในหนังสือกำชับไปทุกจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานครสอดส่องดูแลเรื่องอาคารเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมโยธาฯ ได้แต่งตั้งนายช่าง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งเป็นผู้มีคุณวุฒิทางวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ว่าราชการจังหวัดในการที่จะไปตรวจสอบ ตรวจตราอาคาร ซึ่งเห็นว่ามีอันตรายหรือไม่ปลอดภัยโดยเฉพาะอาคาร 9 ประเภท เช่น อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ โรงแรม โรงงาน สถานบริการ เป็นต้น
นอกจากนี้ นายอุดมกล่าวด้วยว่า สำหรับจังหวัดท่องเที่ยวได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการตรวจสอบอาคาร เช่น โรงแรม อาคารสูง สถานบันเทิง เป็นต้น ซึ่งทางกรมโยธาฯ โดยสำนักตรวจสอบควบคุมอาคาร ได้ส่งนายช่างออกมาสุ่มตรวจอยู่เป็นประจำ และพบมีการละเมิดบ้างในหลายจังหวัด ซึ่งได้แจ้งให้สำนักงานท้องถิ่นเข้าไปดูแล