xs
xsm
sm
md
lg

สภาอุตฯจี้แก้ปัญหาปิดท่าเรือส่งออกกันตัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ท่าเรือส่งออกจังหวัดตรังถูกปิด เนื่องจากเทศบาลเมืองกันตังมีปัญหากับผู้ประกอบการ ส่งผลให้จังหวัดต้องสูญเสียการส่งออกมหาศาล ผู้ว่าฯ ขีดเส้นแก้ไขทุกอย่างให้จบในภายเดือนกันยายนนี้

วันนี้ (7 ก.ย.) นายสมพงษ์ อนุยุทธพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ปัญหาการปิด 1 ใน 3 ท่าเทียบเรือกันตัง อำเภอกันตัง ซึ่งใช้ในการส่งออกสินค้าที่สำคัญ จนส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายอย่างมากในช่วงที่ผ่านมานั้น ตนเองในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารและพัฒนาท่าเรือจังหวัดตรัง ได้สั่งการให้เทศบาลเมืองกันตัง ไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับทางผู้ประมูลท่าเรือ ให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยภายในเดือนกันยายน 2552 นี้ ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นมาจากการที่ผู้ประมูลท่าเรือไม่ยอมทำตามเงื่อนไขสัญญา

เช่น ติดค้างค่าดำเนินการ 2 งวด งวดแรกประมาณ 1 ล้าน 5 แสนบาท และอีกงวดประมาณ 1 ล้านบาท ต่อมาเมื่อผู้ประมูลท่าเรือจ่ายเงินเป็นเช็ค แต่ก็ปรากฏว่าเช็คเด้ง ซึ่งทางเทศบาลได้ไปแจ้งความต่อ สภ.กันตัง ไว้แล้ว เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

นอกจากนั้น ผู้ประมูลท่าเรือยังใช้ล้อเครนชนิดเหล็ก ในการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์ แทนที่จะใช้ล้อเครนชนิดยางตามเงื่อนไขสัญญา ซึ่งส่งผลให้ท่าเรือหรือสะพานเกิดความชำรุด ที่ผ่านมาทางเทศบาลได้ขอให้นำวิศวกรมารับรองในส่วนนี้ แต่ผ่านพ้นมาเกือบ 1 ปีแล้ว ผู้ประมูลท่าเรือก็ยังไม่ดำเนินการ จึงจำเป็นต้องสั่งปิดท่าเทียบเรือกันตัง

มิเช่นนั้นอาจจะถูกแจ้งข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ได้ ทั้งจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งหากผู้ประมูลท่าเรือยังคงดื้อรั้นและไม่ยอมแก้ไขปัญหาต่างๆ ทางจังหวัดตรังก็อาจจะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินการยกเลิกสัมปทานแล้วหาผู้ประมูลท่าเรือรายใหม่มาดำเนินการ เพราะจะปล่อยให้ทุกอย่างยืดเยื้อต่อไปอีกไม่ได้

นายวิชัย วิระพรสวรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง กล่าวว่า ท่าเทียบเรือกันตัง เขตเทศบาลเมืองกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งมีทั้งหมด 3 ท่า และเป็นท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในฝั่งทะเลอันดามัน ใช้สำหรับการส่งออกสินค้าด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ จากท่าเทียบเรือกันตังไปยังปลายทางประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นคู่ค้า

โดยเฉพาะในพื้นที่เขตความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่าย (IMT-GT) ซึ่งประกอบไปด้วย ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย แต่ขณะนี้เหลือท่าเรือที่ใช้การได้เพียงท่าเรือเดียวเท่านั้น เนื่องจากท่าเรือที่ 1 ชำรุดไม่สามารถใช้การได้และอยู่ระหว่างการซ่อมแซม โดยคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ถึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งล่าสุดอยู่ในขั้นตอนที่จะเปิดประมูลเพื่อก่อสร้างใหม่ โดยกรมเจ้าท่าและพาณิชย์นาวี

ส่วนท่าเรือที่ 2 ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่ส่งออกตู้คอนเทนเนอร์ ไปยังปลายทางท่าเรือปีนัง ประเทศมาเลเซีย ได้ถูกปิดลงนับตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมาแล้ว โดยเทศบาลเมืองกันตัง ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานมาจากกรมธนารักษ์ ในการบริหารจัดการ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่นำกุญแจไปปิดล๊อคประตูลงท่าเรือเอาไว้ ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกต่างๆ ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ สาเหตุเกิดมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างทางเทศบาล กับผู้ประกอบการหน้าท่าเรือ คือ บริษัท กันตังคอนเทนเนอร์ เดโพ จำกัด ส่งผลให้ขณะนี้มีตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกสินค้าสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจ เช่น ยางพาราแผ่นดิบ น้ำยางข้น และไม้ยางพารา ต้องตกค้างรอการส่งออกไปยังต่างประเทศสัปดาห์ละหลายร้อยตู้ รวมมูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท

สำหรับการปิดท่าเรือที่ 2 ของเทศบาลเมืองกันตังนั้น ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการส่งออก ผ่านท่าเทียบเรือของจังหวัดตรังอย่างรุนแรงมาก เพราะเหลือท่าเรือให้ใช้บริการได้เพียงแค่ท่าเดียว คือ ท่าเรือที่ 3 เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการในฝั่งอันดามัน

ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง จึงได้ทำหนังสือเสนอปัญหาที่เกิดขึ้น ไปยังกรมเจ้าท่าและพาณิชย์นาวี กรมธนารักษ์ และกระทรวงคมนาคม เพื่อให้หาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้เป็นการด่วน นอกจากนั้น ในการประชุมคณะกรรมการบริหารและพัฒนาท่าเรือจังหวัดตรัง ที่มี นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธาน ก็ยังได้มีการหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาหารือด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง จึงสั่งการเร่งแก้ไขทุกอย่างให้ยุติภายในเดือนกันยายน 2552 นี้

ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง กล่าวอีกว่า แม้ปัญหาความขัดแย้งจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ตาม ทางเทศบาลก็ไม่ควรสั่งปิดท่าเรือ เพราะกระทบต่อการส่งออกโดยตรง ควรจะพูดคุยกับทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ เพราะจังหวัดตรังมีรายได้จากการส่งออกและนำเข้าสินค้า ผ่านท่าเทียบเรือกันตังมูลค่าสูงถึงปีละหลายหมื่นล้านบาท

ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ฝั่งทะเลอันดามันด้วยกัน พยายามที่จะหางบประมาณมาการก่อสร้างท่าเรือเพื่อการส่งออกเหมือนกันจังหวัดตรัง เช่น จังหวัดระนอง แต่ของจังหวัดตรังกลับมาสั่งปิดจนส่งผลเสียหายอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการจึงต้องดิ้นรนบรรทุกสินค้าไปลงที่ท่าเรือสงขลาแทน ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ หากเทศบาลเมืองกันตัง หรือผู้สัมปทานท่าเรือ ไม่สามารถแก้ปัญหา ขอเสนอให้ยึดสัมปทานแล้วเปิดให้มีการประมูลใหม่



กำลังโหลดความคิดเห็น