xs
xsm
sm
md
lg

ขี้ปลาวาฬทำให้หอยแมลงภู่ในกระชังตายเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - คาดหอยแมลงภู่ที่เกษตรกรชาวอำเภอกันตังเลี้ยงไว้ 150 แพ ตายทั้งหมด น่าจะเกิดมาจากปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ แต่ยังไม่สรุปแน่ชัด ต้องรอผลการตรวจสภาพแวดล้อมต่อไปอีกครั้ง

จากกรณีที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่ จำนวน 120 ราย ในพื้นที่บ้านเกาะเคี่ยม หมู่ที่ 4 ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ได้รับความเดือดร้อนจากหอยแมลงภู่ที่เลี้ยงไว้รวม 150 แพ ประสบปัญหาตายหมดทุกแพ สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรประมาณ 30 ล้านบาท

ล่าสุด วันนี้ (23 ส.ค.) นายไกรฤกษ์ เพ็ชรเพ็ง นักวิชาการประมง สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นผู้ลงตรวจสอบพื้นที่และนำตัวอย่างน้ำ และซากหอยแมลงภู่ไปตรวจสอบ พบสาเหตุเบื้องต้นว่าน่าจะเกิดจากปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ หรือบูมแพลงก์ตอน

ทั้งนี้ เนื่องจากลักษณะของหอยที่นำไปตรวจสอบ มีตะกอนดินเกาะตามบริเวณพวงหอยเป็นจำนวนมาก และลักษณะของเนื้อหอยมีลักษณะเหลว ส่วนตัวอย่างน้ำที่ตรวจสอบได้ ปรากฎว่า มีโปรโตซัวเซลเดียวขนาดเล็กรูปไข่มีขนเล็ก มีขนเล็กๆ cilia รอบตัวใช้ในการเคลื่อนที่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกรักบี้หมุนเป็นเกลียวเป็นจำนวนมาก

จากการสอบถามเกษตรกรทราบว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฎการณ์น้ำเปลี่ยนสีเป็นสีแดง จึงคาดว่าน่าจะเป็นปรากฎการณ์ขี้ปลาวาฬ ซึ่งเกิดจากการเพิ่มปริมาณของแพลงก์ตอนพืชอย่างรวดเร็ว จนทำให้น้ำอาจเปลี่ยนสีเป็นสีเขียว สีแดง สีน้ำตาล หรือสีเหลือง โดยขึ้นอยู่กับชนิดของแพลงก์ตอน ส่งผลเสียเป็นปรากฎการณ์ขี้ปลาวาฬ คือ จะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ เพราะเมื่อแพลงก์ตอนตายลง ก็จะปล่อยสารที่เป็นอันตรายออกสู่แหล่งน้ำ และทำให้น้ำบริเวณนั้นขาดแคลนออกซิเจน และมีแพลงก์ตอนที่เป็นชนิดสร้างสารพิษ โดยอาจเป็นอันตรายต่อหอยแมลงภู่ได้ เมื่อไปกินแพลงตอนดังกล่าว

นายไกรฤกษ์กล่าวอีกว่า จากผลการตรวจสอบดังกล่าว ยังไม่สามารถยืนยันหรือสรุปได้ว่า การตายของหอยแมลงภู่ในครั้งนี้จะมาจากปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ เนื่องจากบริเวณใกล้เคียงมีโรงงานปลาหมึกอยู่ 1 แห่ง ซึ่งอาจจะเป็นไปได้เช่นเดียวกันว่าจะเกิดมาจากน้ำเสียที่ทางโรงงานลักลอบปล่อยมาหรือไม่ โดยขณะนี้ได้ประสานไปยังประมงจังหวัดตรัง เพื่อจัดส่งนักวิชาการประมงลงพื้นที่ไปตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด พร้อมกับวิเคราะห์หาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาในครั้งนี้ด้วยว่าจะดำเนินการเช่นไรได้บ้าง ยังไม่สามารถสรุปได้ทั้งหมดในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น