xs
xsm
sm
md
lg

เรืออวนลากสตูลกว่า 40 ลำปิดอ่าวประท้วงถูกยัดข้อหาขนน้ำมันเถื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตูล – ชาวประมงสตูลกว่า 100 คน นำเรืออวนลากกว่า 40 ลำปิดปากอ่าวประท้วง หลังอ้างว่าเหตุที่ ไต้ก๋งพร้อมลูกน้องเรืออีก 4 คนถูกจับเพราะถูกเจ้าหน้าที่ยัดข้อหา นำเข้าน้ำมันเถื่อน

วานนี้ (17 ส.ค.) ชาวประมงเรืออวนลากกว่า 40 ลำนำเรือจอดปิดคลองตำมะลัง หน้าสำนักงาน ตำรวจน้ำ อ.เมือง จ.สตูล เพื่อร้องขอความเป็นธรรมกับผู้ว่าราชการจังหวัดให้ปล่อยเรือประมง ทะเบียน PSF 2466 ซึ่งมีนายเลื่อน แก้วมณี เป็นไต้ก๋งพร้อมลูกเรือ 4 คนโดยอ้างว่าถูกทางการเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง ยัดข้อหา “นำเข้าน้ำมันหลบหนีภาษี”

โดยกลุ่มชาวประมงที่รวมตัวกันประท้วงต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เรือประมงลำดังกล่าวทำประมงโดยไม่ได้ลอบขายน้ำมันเถื่อนแต่อย่างใด เนื่องจากเครื่องขนาด 500 แรงม้าจะใช้น้ำมันอยู่ที่ 8,000 – 12,000 ลิตรในการออกเรือหาปลาและเรือที่ถูกจับเป็นเรือที่กำลังวิ่งออกไปทำงานจากทะเลสตูล สู่น่านน้ำสากล ไม่ใช่วิ่งเข้ามาในจังหวัด จึงเห็นว่ามีการกลั่นแกล้ง

แกนนำชุมนุมครั้งนี้ ยอมรับว่าเรือที่พวกตนทำงานเป็นเรือสัญชาติมาเลเซีย โดยมีแรงงานไทยทำการประมง ซึ่งก็รู้ว่า เป็นการทำประมงเถื่อน อยากทำให้ถูกต้อง แต่ไม่สามารถสู้ราคาการขึ้นทะเบียนไทยได้เพราะมีราคาสูงลำละ 100,000 บาท ทำให้ต้องเป็นเรือผิดระบบอย่างนี้และจ่ายค่าอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ที่เข้าเขตเพราะกลัวจะถูกกลั่นแกล้งรายเดือนละ 1,500 บาท และเคยจ่ายให้กับผู้มีอิทธิพลบางคนในการดูแลลำละ 8,000 บาทก็เคยมี

ชาวประมงอวนลากจึงเดินทางมารวมตัวกันบริเวณศาลากลางจังหวัดกว่า 100 คนก่อนส่งตัวแทนพบผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อยื่นเสนอ 4 ข้อเรียกร้องคือ ให้มีการกำหนดที่ทำกินให้ชัดเจนกรณีเรือเข้าพักพิงเพื่อหลบลมมรสุม ให้ปล่อยเรือและลูกเรือเพราะพวกเขาไม่ได้ค้าน้ำมันเถื่อน ให้ทางการไทยอำนวยความสะดวกเรือประมงทำธุรกิจในน่านน้ำไทย-มาเลเซีย และออกกฎไม่เจ้าหน้าที่เอากฎหมายมาข่มขู่เพื่อเรียกเก็บเงิน

ซึ่งนายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าราชการ จ.สตูล รับรู้และเห็นใจพร้อมจะเร่งให้มีการจัดระเบียบเรือประมงสองทะเบียนมาเลเซีย-ไทย ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ตกเป็นเครื่องมือในกลุ่มเจ้าหน้าที่นอกรีด ส่วนการปล่อยเรือประมงพร้อมลูกเรือนั้นขณะนี้ขั้นตอนดังกล่าวได้อยู่ในขั้นตอนของชุดสอบสวน สภ.เมืองสตูลแล้วต้องปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมาย

ทางด้านนาย ประสิทธิ์ อีหม่าน แกนนำผู้ชุมนุม แม้การยื่นขอเสนอของชาวประมงจะได้รับข้อสรุปจากทางจังหวัดแล้วแต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจเนื่องจากชาวบ้านยังเห็นว่าคนหาเช้ากินค่ำมักจะถูกกลั่นแกล้ง หากปล่อยไปตามกระบวนการกฎหมายกับคนที่ไม่ได้ทำความผิด 2-3 เดือนกว่าจะรู้ผลแล้วเขาจะเอาอะไรกิน อยากให้หลายฝ่ายคิดถึงตรงนี้ด้วย

ทั้งนี้นายอรุณ ชูประสิทธิ์ นายกสมาคมประมงจังหวัดสตูล ยอมรับว่า เรือประมงทะเบียนมาเลเซียในพื้นที่สตูลมีมากกว่า 100 ลำ และเรือประมงสองทะเบียนมี 25 ลำ ทำให้เสี่ยงต่อความผิดของกฎหมายไทย แม้จะมีการทำข้อตกลงกันระหว่างรัฐเปอร์ลิส กับสตูลแล้วว่าสามารถแลกเปลี่ยนกันนำปลาขึ้น และน้ำมันเติมฝั่งมาเลเซียได้ เพราะต้นทุนที่ถูกกว่าถึงลิตรละ 16 บาท ในน้ำมันทางมาเลเซียจำหน่ายเพียงลิตรละ 12 บาท แต่เมืองไทยลิตรละ 28 บาท เลือกที่จดทะเบียนมาเลเซียมากกว่า

อีกทั้งทะเบียนไทยมีค่าจดทะเบียนแพงถึงลำละ 100,000 บาท ทำให้เมื่อเรือลำดังกล่าวมาในไทยเสี่ยงต่อการถูกจับกุมได้ง่าย และมักจะถูกกลุ่มผู้ไม่หวังดีกลั่นแกล้งทำให้ต้องมีการจ่ายรายการให้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก


กำลังโหลดความคิดเห็น