xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตขอ “กมธ.ป้องกันผลกระทบจากภัยพิบัติฯ” ดันงบติดตั้งทุนเตือนภัยสึนามิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ตขอคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎรช่วยผลักดันงบประมาณติดตั้งทุ่นเตือนภัยสึนามิเพิ่ม รวมทั้งงบประมาณการซ้อมอพยพหนีภัยสึนามิเพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชาชนที่ถูกตัดไปในปี 2553

วันนี้ (24 ก.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) นายสุรวงศ์ เทียนทอง ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ สภาผู้แทนราษฎร ได้รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งของจังหวัดภูเก็ต รวมถึงระบบเตือนภัยและการจัดการภัยพิบัติในภาวะฉุกเฉิน

โดยมี นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายโชตินรินทร์ เกิดสม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต นายภพพล ศิริลักษณะพงศ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม หลังจากฟังบรรยายสรุปแล้ว ทางคณะกรรมธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัยสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะอนุกรรมมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางตรวจติดตามการทำงานของหอเตือนภัยล่วงหน้าที่บริเวณหาดป่าตอง เพื่อดูความพร้อมของการทำงานของหอเตือนภัยล่วงหน้า

โดย นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของภูเก็ตมีค่อนข้างน้อย ซึ่งพื้นที่มีปัญหาจะอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะ 2 พื้นที่หลัก บริเวณหาดเลพัง ต.เชิงทะเล กับบริเวณชายหาดใกล้กับท่าอากาศยานภูเก็ต เนื่องจากมีน้ำขึ้นน้ำลงและการหมุนเวียนมากกว่าทางฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นป่าเลนและจะมีปัญหาด้านการบุกรุกป่าชายเลนเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพ

ส่วนปัญหาใหญ่ที่เป็นภัยธรรมชาติของภูเก็ต คือ สึนามิ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ที่ทำให้เกิดความเสียหายค่อนข้างมาก หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่มีการวางแผนงานในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตั้งหอสัญญาณเตือนภัยจำนวน 19 จุดรอบเกาะ โดยเชื่อมสัญญากับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมกันนี้ ก็ได้มีการวางแผนในการซ้อมอพยพประชาชนมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

ขณะที่ นายโชตินรินทร์ กล่าวว่า การเตรียมพร้อมของจังหวัดได้มีการนำประสบการณ์ ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ จากในคราวเกิดธรณีพิบัติภัยสึนามิมาปรับใช้ในการวางแผนงาน เพราะภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์และบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจและสามารถปฎิบัติการได้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นได้อย่างเป็นระบบ ในลักษณะเชิงรุก เพื่อลดความสูญเสียให้เหลือน้อยที่สุด

ขณะที่ นายชัยรัตน์ สุขบาล รองนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง อ.กะทู้ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการมีหอสัญญาณเตือนภัยรอบเกาะซึ่งสามารถเชื่อมสัญญาณกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแล้ว ประเทศไทยยังได้รับการสนุนสนุนงบประมาณภายหลังจากเกิดสึนามิติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียด้วย แต่เนื่องจากทุ่นดังล่าวมีระยะเวลาของการใช้งาน และจุดที่ตั้งอยู่นอกน่านน้ำสากล ดังนั้น ในส่วนของประเทศไทยซึ่งยังเป็นพื้นที่เสี่ยงในการเกิดสึนามิก็ควรที่จะมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อทุ่นของตัวเอง ทราบว่าได้มีการตั้งงบประมาณไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของบประมาณในการฝึกซ้อมเพื่ออพยพประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาท้องถิ่นได้ร่วมกับสำนักงาน ปภ.จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง แต่ปรากฏว่า ในปี 2553 งบดังกล่าวถูกตัดไป อยากฝากให้กรรมาธิการ ให้ช่วยผลักดันในเรื่องนี้ด้วย เพราะการฝึกซ้อมเป็นเรื่องสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชน เนื่องจากขณะนี้เรามีระบบการเตือนภัยที่สมบูรณ์แบบเป็นมาตรการและได้รับการยอมรับจากนานาชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดงบประมาณในส่วนของการฝึกซ้อมและการบริหารจัดการ

นายสุรวงศ์ เทียนทอง ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับภัยธรรมชาตินั้น แต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันตามลักษณะของภูมิประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่พบปัญหาความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากนำมือของมนุษย์ ซึ่งทราบว่าในส่วนของศูนย์เตือนพิบัติแห่งชาตินั้นได้มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ ไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกัดเซาะชายฝั่ง เรื่องของแผ่นทรุด หรืออื่นๆ ซึ่งการเกิดมักจะเกิดจุดเดิมและพื้นที่ซ้ำๆ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะโดยความเห็นส่วนตัวเห็นว่าการดำเนินงานนั้นควรเน้นในเรื่องของการป้องกันมากกว่าที่จะมาแก้ปัญหาภายหลัง หรือวัวหายแล้วจึงล้อมคอก

ส่วนเรื่องของงบประมาณนั้นจะไปผลักดันในเรื่องงบประมาณดังกล่าวให้ เพราะทราบว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้วจากการที่ได้ศึกษาดูงานในส่วนของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเองก็ยังมีปัญหา เนื่องจากขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนทราบเพียงว่าสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่ในการทำงานก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งก็จะไปผลักดันให้เป็นองค์กรที่ชัดเจนและมีกฎหมายรองรับเพื่อให้สามารถปฎิบัติงานได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะการสั่งการเมื่อเกิดเหตุขึ้นว่าจะทำโดยใครเพื่อไม่ให้เกิดการสับสน และมีความเชื่อถือได้

กำลังโหลดความคิดเห็น