xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯตรังแก้ปัญหาบริษัทเมินประมูลรังนกนางแอ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - จังหวัดตรังเร่งแก้ปัญหาเปิดประมูลรังนกอีแอ่นจังหวัดตรัง หลัง 6 บริษัทที่เคยมาซื้อซองประมูลราคาไปก่อนหน้านี้ กลับหายหน้าไม่มายื่นซองประมูลราคาเลยแม้แต่รายเดียว

จากกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดตรัง ซึ่งมี นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธาน ได้ลงนามเปิดประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่นรอบใหม่ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สัมปทานจัดเก็บรังนกอีแอ่นเป็นระยะเวลา 5 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 เนื่องจากผู้รับสัมปทานรายเก่า กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 30 กันยายน 2552 โดยกำหนดขายเอกสารประมูลราคาไปเมื่อวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2552

ผลปรากฏว่า มีผู้สนใจเข้าซื้อเอกสารประมูลราคาทั้งหมด 6 บริษัท ประกอบด้วย 1.หจก.ดีวายบิซิเนส 2.บริษัท ตรังรังนก จำกัด 3.บริษัท สานเพ็ชร (สยาม) จำกัด 4.บริษัท คิวพีเอส (เอเชียแปซิฟิกส์ ) จำกัด 5.หจก.ประยงศิลป์การโยธา และ 6.บริษัท ภูเก็ตทักษิณ คอนทรัคชั่น จำกัด แต่เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันกำหนดยื่นเอกสารประมูลราคา ณ สถานที่กลางศาลากลางจังหวัดตรัง ชั้น 5 แต่ไม่พบว่ามีบริษัท หรือ หจก.มีรายใดเข้ายื่นเอกสารประมูลราคาเลยแม้แต่รายเดียว แต่มีเพียงตัวแทนของแต่ละบริษัท หรือ หจก.ที่เดินทางไปสังเกตการณ์เท่านั้น

นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวถึงเหตุผลที่ทั้ง 6 บริษัท หรือ หจก. ซึ่งได้ซื้อเอกสารประมูลราคาไปแล้ว แต่ไม่ได้ยื่นเสนอตัวเพื่อรับการพิจารณา ว่า คงเป็นเพราะในการเปิดประมูลรอบใหม่ในครั้งนี้ ทางจังหวัดตรังได้แบ่งสัญญาออกเป็น 2 สัญญา ประกอบด้วย 1.สัญญาจัดเก็บในพื้นที่อำเภอปะเหลียน และ 2.สัญญาจัดเก็บในพื้นที่อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา รวมกัน ส่วนของสัญญาท้องที่อำเภอปะเหลียน มีทั้งหมด 9 เกาะ อยู่ในตำบลเกาะสุกรทั้งหมด ประกอบด้วย เกาะเภตรา เกาะเหลาเหลียงใต้ เกาะตากใบ เกาะเบ็งกระโจมไฟ เกาะโต๊ะโร้ยน้อย เกาะโต๊ะโร้ยใหญ่ เกาะจังกาบ เกาะแดงน้อย และเกาะแดงใหญ่ ในราคาประมูลขั้นต่ำ 90 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ได้มีการตัดเกาะเหลาเหลียง ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่เคยมีรังนกมากที่สุดออกไป เนื่องจากอยู่ในเขตรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา แต่ทางอุทยานขอคืนเพื่อนำไปใช้เป็นสถานที่สำหรับการจัดกิจกรรมนันทนาการ ส่วนตัวจึงคิดว่าผู้ประกอบการคงมองว่า ราคาประมูลที่ตั้งไว้สูงเกินไป จึงอาจจะไม่คุ้มทุน รวมทั้งในส่วนของสัญญาที่ 2 ก็เช่นกัน ซึ่งมีทั้งหมด 6 เกาะ ประกอบด้วย เกาะลิจิน หรือเกาะจิบจิบ หรือเกาะริเจ็น หรือเกาะแหวน ตำบลเกาะลิบง, เกาะมุก ตำบลเกาะลิบง, เกาะตาหลี หรือเกาะเชือก ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง, เกาะยา ตำบลไม้ฝาด, เกาะหล่อหล่อ ตำบลบ่อหิน และเกาะผี ตำบลบ่อหิน ในราคาประมูลขั้นต่ำ 16 ล้านบาท

นอกจากนั้น อีกปัญหาหนึ่ง โดยส่วนตัวของผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง มองว่า คงเป็นเพราะเกาะต่างๆ เหล่านั้น กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น จึงอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณของนกนางแอ่นลดน้อยลง และระยะหลังก็มีการสร้างบ้านให้นกอยู่อาศัยมากขึ้นเช่นกัน ส่วนจะมีการพิจารณาลดวงเงินราคาประมูลขั้นต่ำหรือไม่นั้น คงต้องคุยกันในที่ประชุมคณะกรรมการ แต่อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดตรังจะต้องหาทางแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ไม่เกินวันที่ 30 กันยายนนี้ เพราะหลังจากนั้นเมื่อขาดช่วงผู้รับสัมปทาน อาจจะเกิดปัญหาในเรื่องการเข้าไปควบคุมพื้นที่เกาะ และจะอาจส่งผลให้มีคนลักลอบเข้าไปจัดเก็บรังนกได้
กำลังโหลดความคิดเห็น