xs
xsm
sm
md
lg

สัมปทานรังนกอีแอ่นเมืองตรังราคาสูงไร้ผู้ประมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ผู้ประกอบการเมินไม่ร่วมยื่นเอกสารประมูลราคารังนกอีแอ่นที่จังหวัดตรัง รอบที่ 2 แนะราคาที่จังหวัดตรังตั้งไว้สูงเกินไป - คณะกรรมการเตรียมหาหาทางแก้มี 2 วิธี คือปล่อยสัมปทานให้ว่าง หรือลดราคาประมูลลง


วันนี้ (29 ก.ย.) ณ ห้องประชุมเล็กศาลากลางจังหวัดตรัง ชั้น 5 ซึ่งเป็นสถานที่ยื่นเอกสารประมูลราคาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดตรัง ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์รอบใหม่ ในห้วงเวลาสัมปทานเป็นระยะเวลา 5 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ตามที่คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดตรัง มีมติให้เปิดประมูลรังนกอีแอ่นจังหวัดตรัง ด้วยระบบอิเล็คทรอนิคส์รอบใหม่ หลังไม่มีผู้ใดสนใจยื่นเอกสารประมูลราคาในรอบแรก

ทั้งนี้ ได้มีการแบ่งช่วงเวลาในการยื่นเอกสารออกเป็น 2 ช่วงคือ สัญญาจัดเก็บในพื้นที่อำเภอปะเหลียน ราคาประมูลขั้นต่ำ 90 ล้านบาท กำหนดยื่นในเวลา 09.00-10.00 น. และสัญญาจัดเก็บในพื้นที่อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา รวมกัน ราคาประมูลขั้นต่ำ 16 ล้านบาท กำหนดยื่นในเวลา 10.00-11.00 น. โดยมีนายไชยยศ ธงไชย ปลัดจังหวัดตรัง เป็นประธาน

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าได้มีตัวแทนของบริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัดมาร่วมสังเกตการณ์จำนวน 2 บริษัท ประกอบด้วย ตัวแทนจาก หจก.บี.วาย.บิวซิเนส และบริษัท คิว.พี.เอฟ. (เอเชียแปซิฟิก) จำกัด จากจำนวนบริษัทที่มารับเอกสารประมูลราคาไปในครั้งแรกทั้งหมด 5 บริษัท แต่ทั้ง 2 บริษัทที่มาสังเกตการณ์หน้าห้องยื่นเอกสารประมูลราคาในครั้งนี้ ต่างก็เมินไม่เข้ายื่นเอกสารประมูลราคาอย่างใด

โดยให้เหตุผลว่า ราคากลางทั้ง 2 สัญญาที่ทางจังหวัดตรังตั้งไว้สูงเกินไป แต่หากได้มีการปรับราคาลดลง โดยที่สัญญาสัมปทานในพื้นที่อำเภอปะเหลียน เหลือราคาประมูลขั้นต่ำจำนวน 50 ล้านบาท และสัญญาสัมปทานในพื้นที่อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา รวมกัน เหลือราคาประมูลขั้นต่ำจำนวน 6 ล้านบาท ทั้ง 2 บริษัท รวมทั้งบริษัทอื่นๆ ต่างก็สนใจที่จะเข้าร่วมประมูลราคาด้วยเป็นจำนวนมาก

นายไชยยศ ธงไชย ปลัดจังหวัดตรัง กล่าวว่า เมื่อไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้ายื่นเอกสารประมูลราคา ก็จะต้องทำบันทึกเสนอไปยังคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดตรัง เพื่อให้ดำเนินการเรียกประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ อาจจะพิจารณาปรับลดราคาประมูลขั้นต่ำลงมา หรือปล่อยให้พื้นที่สัมปทานว่างเปล่าไปอีกสักระยะ เพื่อให้ธรรมชาติได้คืนตัว

ส่วนพื้นที่จัดเก็บรังนกอีแอ่น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป ในขณะที่ยังไม่มีผู้รับสัมปทานรายใหม่เข้าไปรับช่วงต่อ ทางจังหวัดตรังจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมเฝ้าระวังรักษาพื้นที่สัปทานรังนกอีแอ่นจังหวัดตรัง ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) และฝ่ายท้องถิ่น เช่น นายก อบต.ในพื้นที่ที่มีสัมปทานรังนก

ทั้งนี้ ต้องใช้เงินจำนวนมากในการจัดส่งจ้างเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล ตกสัปดาห์ละประมาณ 1 แสนบาท เช่น ค่าเช่าเรือลำละ 2,000 บาท ซึ่งต้องใช้จำนวนวันละ 2 ลำ ค่าอาหารเจ้าหน้าที่วันละไม่ต่ำกว่า 8 คน รวมทั้งค่าเสียเวลา และค่าน้ำมันเรือ ขณะที่ทางจังหวัดตรังยังมีเงินกองกลางที่เหลือสำหรับการดำเนินการ รวมค่าใช้จ่ายประจำแค่ประมาณ 3.3 ล้านบาทเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น