ปัตตานี – "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" ลงพื้นที่ติดตามการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ พร้อมรับฟังปัญหาจากคนทำงาน เผยตลอด 5 ปี รัฐบาลใช้งบเยียวยาแล้ว 2,000 ล้านบาท ปี 52 ใช้อีก 400 ล้านบาท และในปีหน้าใช้ประมาณ 900 ล้านบาท
วันนี้ (15 ส.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. พร้อมด้วย นายภูเบศ จันทนิมิ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางนิตยา วงศ์เดอร์รี ผู้ตรวจราชการเขต 8 ได้พบปะกับเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรภาคเอกชนที่ทำงานด้านการเยียวยาในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อมอบนโยบายและรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะการเยียวยาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ หลังจากที่ทางคณะทำงานประสานหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเยียวยาจิตใจ ได้จัดทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานเยียวยาระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคม 2552 โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 250 คน
นายสาทิตย์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ต่อไปของจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ การช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ในปี 2552 ใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท และในปีหน้าจะใช้งบประมาณ 900 ล้านบาท การให้ความช่วยเหลือเยียวยาจะให้รัฐทำฝ่ายเดียวไม่ไหว จึงต้องปรับกลไกการทำงานให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เข้มแข็งระดับหนึ่งมาทำงานการเยียวยา
"ทำอย่างไรที่จะให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ได้อย่างยั่งยืน ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการช่วยเหลือที่เป็นสังคมสงเคราะห์ แต่ต้องเยียวยาด้านจิตใจ ส่งเสริมอาชีพ การช่วยเหลือที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจะต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งตนจะได้นำข้อเสนอที่ได้รับฟังรายงานให้นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้พิจารณา ในหลายประเด็น เช่น การแก้ไขหลักเกณฑ์ต่างๆ" นายสาทิตย์กล่าว
ด้านนางสาวนารี เจริญผลวิริยะ ประธานคณะทำงาน กล่าวว่า ข้อเสนอที่ได้จากการจัดเวทีวันนี้เราได้แยกเป็นรายจังหวัดและซึ่งสามารถสรุปโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนที่เป็นข้อเสนอร่วม 4 จังหวัดดังนี้
1.พบปะแลกเปลี่ยนข่าวสารว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรอย่างน้อยสามเดือนครั้ง
2.ตั้งศูนย์หรือคณะทำงานไตรภาคีระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบที่พัฒนาตนเองขึ้นมาทำงานเยียวยาในระดับอำเภอและจังหวัด
3.ส่งเสริมองค์กร(ช่วยเหลือฯ)ขนาดเล็กและชุมชนให้ความเข้มแข็ง สามารถทำงานเยียวยาโดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุน
4.พัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครภาคประชาชน เช่น อสม. อพม. และอาสาสมัครใหม่ให้มีความรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ได้รับผลกระทบ และขั้นตอนการเข้าถึงบริการการเยียวยา
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น 1.สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนยอมรับ 2.สำรวจข้อมูลองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านการเยียวยา ส่งให้กับองค์กรภาครัฐที่ทำงานเยียวยา 3. อยากให้องค์กระพัฒนาเอกชน(NGO)มาเป็นเครือข่ายยุติธรรมชุมชน 4.ให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีบทบาทมากขึ้น ในการเชื่อมประสานการทำงานกับภาคประชาชน และการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 5.ทำคู่มือสิทธิประโยชน์อันพึงได้รับของผู้ได้รับผลกระทบ ทำสมุดประจำตัวของผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งข้อมูลส่วนตัวและบันทึกการช่วยเหลือจากหน่วยงาน
ส่วนข้อเสนอของภาคประชาชนมีทั้งหมด 17 ข้อ ดังนี้
1.ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติ ด้านการเยียวยาให้เกิดความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เท่าทัน/สอดรับกับสภาพปัญหาจริง ให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และคำนึงหลักมนุษยธรรม/ประโยชน์สูงสุดของผู้ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ (รวดเร็ว ทั่วถึง เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ) ผู้ได้รับผลกระทบที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถลงความเห็นว่าตายด้วยเรื่องสถานการณ์หรือเรื่องส่วนตัว ภายในระยะเวลา 6 เดือน ให้สันนิษฐานว่าตายจากสถานการณ์ และเยียวยาครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบตามสิทธิ ครอบครัวที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ ให้รัฐแสวงหาแนวทางหรือช่องทางอื่นในการให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม โดยเฉพาะทุนการศึกษาสำหรับเด็ก โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดูแล
2.ออกนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่ให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษของรัฐ เช่น ผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากการใช้กฎอัยการศึก, พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และในระหว่างฝากขังตามกฎหมายอาญา ฯลฯ 3.ส่งเสริมให้แกนนำผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ(พุทธ-มุสลิม)เข้าไปมีส่วนร่วมหรือเป็นตัวแทนในกลไกรัฐ ในระดับการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการเยียวยาหรือการพัฒนาใดๆต่อผู้หญิงและครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งในระดับชาติและในระดับพื้นที่ เช่น เป็นกรรมการกยต. เป็นต้น
4.ส่งเสริมให้องค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กับการกำหนดนโยบายเปิดช่องทางในการรับฟังปัญหาและความต้องการจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง 5.ให้การเยียวยาและส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ให้สอดรับกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและศาสนา 6.ส่งเสริมให้มีกองทุนสำหรับการประกอบอาชีพ การออม และสร้างสวัสดิการให้แก่ผู้หญิงในครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบเพื่อบรรเทาปัญหาด้านเศรษฐกิจและสร้างความยั่งยืน/ การพึ่งพาตัวเองในอาชีพและรายได้ในระยะยาว
7.ส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้ได้รับกระทบโดยคำนึงถึงความถนัด ศักยภาพความสามารถและสภาพที่เหมาะสมกับความเป็นเพศหญิง (เพศสภาพ) และความเป็นแม่ 8.แกนนำผู้ได้รับผลกระทบ ที่อาสามาเป็นนักพัฒนา ผู้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯคนอื่นๆ ควรจัดหาค่าตอบแทนหรือสวัสดิการที่เหมาะสมในการดูแลบุคคลเหล่านี้ 9.จัดให้มีระบบ/กลไกการเชื่อมประสาน ติดตาม และส่งต่อ (refer) ระหว่างองค์กรภาครัฐ, องค์กรภาคเอกชน/ประชาสังคม และกลุ่ม/องค์กรผู้หญิง เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยา และการหนุนเสริมผู้ได้รับผลกระทบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
10.จัดให้มีโทรศัพท์สายด่วน เพื่อให้ข้อมูล หรือให้คำปรึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆด้านการเยียวยา เมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง รวมทั้งจัดให้มีช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงโดยสะดวก ง่าย สองภาษา (มลายู/ไทย) และไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถขอรับการปรึกษาต่างๆได้ 11.ภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรให้การสนับสนุนกระบวนการชุมชนบำบัด เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอย่างครบวงจร (ข้อเสนอจากกอส.)
12.ส่งเสริมให้เกิดอาสาสมัครในระดับประชาชนต่างวัฒนธรรมที่ช่วยเหลือเกื้อกูล ครอบครัว ผู้ได้รับผลกระทบ และให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนที่เสริมสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในระดับชุมชน สังคม และประเทศ เช่น ให้มีครอบครัวอุปถัมภ์, นักศึกษาอาสาต่างวัฒนธรรม เป็นต้น 13.เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคม และองค์กรภาครัฐ ในการเยียวยา เสริมสร้างสันติภาพและให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
14.จัดกิจกรรมให้มีการรับฟังความเห็นและแลกเปลี่ยนระหว่างแกนนำ/กลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ กับองค์กรภาครัฐ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง รวมทั้งยกระดับข้อเสนอจากเวที ให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐและสาธารณะ 15.ประสานความร่วมมือกับนักวิชาการ เพื่อให้เกิดงานวิจัย หรืองานสร้างสรรค์ ที่ศึกษาปัญหาความต้องการและพัฒนาส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงและครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ
16.ส่งเสริมให้ผู้ได้รับผลกระทบจัดตั้งกลุ่ม และสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มและเครือข่าย เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานเยียวยาและงานพัฒนาอื่นๆ
17.ให้รัฐเป็นเจ้าภาพจัดเวทีแลกเปลี่ยน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในงานด้านการเยียวยาและบทบาทการทำงาน ทั้งของภาครัฐและของภาคประชาชน โดยเฉพาะภาคประชาชนที่ทำงานในประเด็นด้านการปกป้องสิทธิและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคง