xs
xsm
sm
md
lg

คนเลี้ยงกุ้งกระบี่เข้าร่วมโครงการจำนำแล้วเกือบ 30 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกรเลี้ยงกุ้งขาวแวนาไม กระบี่ แห่จำนำกุ้งแล้วเกือบ 30 ราย หลังรัฐบาลเปิดโครงการจำนำแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ

นายอรุณ ไม้ทิพย์ การค้าภายในจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 52 ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการแก้ไขปัญหากุ้งขาวแวนาไม ปี 252 ด้วยวิธีการรับจำนำกุ้งขาวแวนาไม จากเกษตรกร เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไว้กับกรมประมงในวงเงินไม่เกินรายละ 2 หมื่นบาท โดยให้องค์การคลังสินค้า(อคส.)รับฝากเก็บและออกใบประทวน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกร(ธ.ก.ส.)รับจำนำใบประทวน

การค้าภายในจังหวัดกระบี่ กล่าวอีกว่า สำหรับปริมาณการรับจำนำกุ้งขาวแวนาไม ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ได้โค้วต้าการรับจำนำ จำนวน 10,000 ตัน โดยราคารับจำนำกำหนดขนาดละราคาตามไซด์ของกุ้ง โดยกุ้งขาวแวนาไม ขนาด 40 ตัว/กก. ราคา กก.ละ 155 บาท ขาด 50 ตัว/กก.ราคา กก.ละ 135 บาท ขนาด 60 ตัว/กก. ราคา กก.ละ 125 บาท ขนาด 70 ตัว/กก. ราคา กก.ละ110 บาท และขนาด 80 ตัว/กก.ราคา กก.ละ 100 บาท โดยมีระยะเวลารับจำนำตั้งแต่ 15 กรกฎาคม -30 กันยายน 52 ระยะเวลาไถ่ถอน ภายใน 2 เดือน นับจากเดือนที่รับจำนำ

“สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับจำนำ ต้องเป็นเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการประเภทการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ(กุ้งทะเล)กับกรมประมง และกุ้งที่จะจำนำได้ต้องเป็นกุ้งที่เลี้ยงจากบ่อเลี้ยงของตนเองและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในกุ้งที่นำมาจำนำ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้า ธ.ก.ส.และได้แจ้งความจำนงที่จะขอกู้เงินตามโครงการแทรกแซงตลาดกุ้งขาวแวนาไม ปี 2552 กับ ธ.ก.ส. และหลังจากที่เปิดให้มีการจำนำ ในวันที่ 15 เป็นวันแรก ทางผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่กระบี่ ได้เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 30 ราย” นายอรุณ กล่าว

นายปกครอง เกิดสุข ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีมติให้แก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ โยการเปิดรับจำนำกุ้งในจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 500 ราย มีความพอใจในการตัดสินใจของรัฐบาลเพราะทำให้ราคากุ้งขยับขึ้นมาพอที่จะให้เจ้าของบ่อกุ้งสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยไม่ต้องทิ้งไปประกอบอาชีพอื่น และการจัดสรรงบประมาณเพื่อรับจำนำกุ้งของรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบประมาณเป็นรายจังหวัด แต่จัดสรรตามความต้องการของผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งที่จังหวัดกระบี่มีผู้ขอจำนำกุ้งประมาณ 30 ราย หรือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท

ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวอีกว่า สำหรับตลาดกุ้งต่างประเทศ มีความต้องการอย่างน้อยปีละประมาณ 4 แสนตัน ดังนั้นผู้ส่งออกอยากให้ผู้เลี้ยงกุ้งมีปริมาณการเลี้ยงที่คงที่หรือเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้มีกุ้งส่งออกในจำนวนตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งการที่รัฐบาลช่วยประคองผู้เลี้ยงกุ้งให้กิจการอยู่ได้ก็เหมือนเป็นการรักษาตลาดต่างประเทศกุ้งของไทยไว้ไม่ให้ไปตกอยู่กับประเทศอื่นที่เลี้ยงกุ้งเพื่อส่งออกเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่อยากจะฝากถึงรัฐบาล คือ ให้รัฐบาลขอความร่วมมือจากสมาคมผู้แช่แข็งหรือห้องเย็น ในเรื่องของการเพิ่มสถานที่รับฝากกุ้ง เพื่อให้ผู้เลี้ยงกุ้งสามารถเพิ่มการจำนำได้ เพราะเชื่อว่ายังมีเกษตรกรรายย่อยอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการเข้าโครงการรับจำนำแต่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
กำลังโหลดความคิดเห็น