ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักการเมือง-ผู้ประกอบการ-ภาคประชาชน ยำเละ อพท.ประกาศพื้นที่อ่าวภูเก็ตเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน สงสัยคนภูเก็ตจะได้อะไร หวั่นสุดท้ายประโยชน์จะตกกับทุนต่างชาติมากกว่าคนภูเก็ต แต่ไม่ค้านหากทำแล้วสามารถแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่สะสมมานานของภูเก็ตได้ และคนภูเก็ตได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
วันนี้ (30 มิ.ย.) องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับบริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาจัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมการประกาศเขตพื้นที่อ่าวภูเก็ตและพื้นที่เชื่อมโยงเป็นพื้นที่พิเศษ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนศึกษาความเหมาะสมการประกาศพื้นที่พิเศษอ่าวภูเก็ตและพื้นที่เชื่อมโยงเพื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ โดยมี ส.ว. ส.ส. หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนทั่วไปร่วมแสดงความคิดเห็น
ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้าที่ อพท.เคยมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ในภูเก็ตเพื่อที่จะประกาศให้บริเวณอ่าวภูเก็ตเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน แต่ทุกภาคส่วนเห็นว่าการรับฟังความเห็นของ อพท.ในครั้งนั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มคนภูเก็ตทั้งหมด อพท.จึงได้ว่าจ้างบริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด เป็นที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการจัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสม การประกาศเขตพื้นที่พิเศษอ่าวภูเก็ตและพื้นที่เชื่อมโยงใหม่ให้รอบหนึ่งเพื่อให้ครอบคลุมคนภูเก็ตทุกกลุ่ม
นายสมชาย โพธิวงศาจารย์ ผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสมการประกาศเขตพื้นที่พิเศษอ่าวภูเก็ตและพื้นที่เชื่อมโยง กล่าวว่า อพท.และบริษัทได้กำหนดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนชาวภูเก็ตทั้งหมด 10 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมชาวภูเก็ตทุกพื้นที่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งเมื่อศึกษาครบทั้ง 10 ครั้งในวันที่ 23 กรกฎาคมก็จะมีการสรุปความคิดเห็นของคนภูเก็ตทั้งหมด เสนอคณะกรรมการ อพท.ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการประกาศเป็นอ่าวภูเก็ตเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน หลังจากนั้นก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา 21 คน เพื่อที่จะดำเนินการทำงานแผนงานโครงการการพัฒนาทั้งหมด เพื่อบูรณาการในการของบประมาณมาดำเนินการทั้งในเรื่องของการฟื้นฟู การพัฒนา และการรักษาสภาพแวดล้อมในบริเวณดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม อพท.มั่มใจว่าโครงการนี้คนภูเก็ตจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน ทั้งในด้านการท่องเที่ยว สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่วนจะมีการประกาศเฉพาะอ่าวภูเก็ตหรือทั้งเกาะนั้นก็ขึ้นอยู่กับคนภูเก็ต
ไม่ขัดหากทำแล้วแก้ปัญหาของภูเก็ตได้
นายภคิน รักแต่งาม อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่ขัดข้องในการพัฒนา แต่การที่จะประกาศให้อ่าวภูเก็ตเป็นพื้นที่พิเศษนั้น จะต้องตอบโจทย์ 2 ข้อของคนภูเก็ตให้ได้ว่า เมื่อประกาศเป็นพื้นที่พิเศษแล้วผลประโยชน์ที่คนภูเก็ตจะได้รับมีมากน้อยแค่ไหน สามารถลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ประกาศแล้วส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมของภูเก็ตได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร หากสามารถตอบโจทย์ 2 ข้อนี้ได้ และมีรูปแบบการพัฒนาที่ชัดเจน เชื่อว่าคนภูเก็ตโดยภาพรวมคงจะไม่ขัดขวางโครงการนี้อย่างแน่นอน
ด้าน นายเอี่ยม ถาวรว่องวงศ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การพัฒนาอ่าวภูเก็ตเป็นการพัฒนาในเชิงธุรกิจมากกว่าที่จะพัฒนาเพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน อยากให้มีการกำหนดให้ชัดเจนว่าการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษนั้นชุมชนคนภูเก็ตจะได้อะไร สามารถแก้ปัญหาที่สะสมของภูเก็ตได้อย่างไร เพราะขณะนี้ภูเก็ตต้องประสบกับปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอในการรองรับการเติบโตของเมืองอย่างมาก และที่สำคัญคนภูเก็ตไม่ต้องการที่จะประกาศอ่าวภูเก็ตเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อให้นายทุนใหญ่ๆ จากภูเก็ตเข้ามาลงมาลงทุนกอบโกยผลประโยชน์จากภูเก็ตหลังจากนั้นก็ทิ้งปัญหาให้คนภูเก็ตตามแก้เหมือนที่ผ่านๆมา ซึ่งปัจจุบันปัญหาของภูเก็ตก็มีมากพออยู่แล้ว
ขณะที่ นายไตรบัญญัติ จริยะเลอพงษ์ ตัวแทนจากภาคสังคมภูเก็ต กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการพัฒนา แต่สิ่งที่อพท.กำลังจะทำอยู่นี้จะต้องสามารถตอบคำถามให้ได้ว่า ใครจะได้ประโยชน์กับการประกาศอ่าวภูเก็ตเป็นพื้นที่พิเศษ คนภูเก็ตจะได้อะไรกับการพัฒนาจุดนี้ จะประกาศเฉพาะอ่าวภูเก็ตหรือทั้งเกาะ เพราะที่ผ่านมาภูก็ตเติบโตขึ้นมากจากโชคมากกว่าการวางแผนพัฒนา จากอดีตที่มีแร่ทั้งในทะเลและบนบกก็ขุดกันจนหมด สามารถส่งค่าภาคหลวงเข้ารัฐเป็นจำนวนมาก เมื่อหมดยุดแร่ดีบุกก็โชคดีได้ชายหาดที่สวยงาม น้ำทะเลใส ทำให้ท่องเที่ยวเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ จนสามารถส่งภาษีเข้ารัฐได้ปีละมากๆ แต่สิ่งที่ภูเก็ตได้รับกลับมานั้นน้อยมาก
ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา จ.ภูเก็ตได้พัฒนาแค่ถนน 4 เลนเพียงเท่านั้น ที่เหลือไม่เคยได้รับงบประมาณก้อนใหญ่จากรัฐบาลมาพัฒนาอะไรเลย ทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ภูเก็ตตอนนี้เปรียบเหมือนคนป่วยที่ไม่สามารถล้มได้ต้องส่งภาษีเข้ารัฐ ท่ามกลางความไม่พร้อมในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับการท่องเที่ยว และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ภูเก็ตจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษที่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ
นางธันยรัศน์ อัจฉริยะฉาย ส.ว.ภูเก็ต กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาอ่าวภูเก็ตก็ถูกต่างชาติยักษ์ใหญ่เข้ามาขุดแร่เอาผลประโยชน์ไปทั้งหมด ทิ้งความเสื่อมโทรมไว้คนภูเก็ต แต่โชคดีที่ภูเก็ตยังเหลือชายฝั่งตะวันตกที่สวยงามไว้ทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ส่งภาษีเข้ารัฐปีละจำนวนมากแต่ได้กลับมาเพียงน้อยนิด แม้จะมีการพยายามผลักดันของงบประมาณในสภาฯมากเท่าใดก็ตาม กลับได้รับคำตอบว่าคนภูเก็ตรวยแล้วต้องช่วยตัวเอง ซึ่งคนภูเก็ตก็ต้องช่วยตัวเองมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าหากมีการประกาศอ่าวภูเก็ตเป็นพื้นที่พิเศษ คนที่จะเข้ามาลงทุนจะต้องเป็นทุนใหญ่จากต่างชาติทั้งนั้น แล้วถามว่าคนภูเก็ตจะได้อะไร คนภูเก็ตยินดีต้อนรักนักลงทุนจากต่างชาติแต่คนภูเก็ตจะต้องได้ประโยชน์ที่คุ้มค่าด้วย และสิ่งที่คนภูเก็ตกลัวมาก คือ เมื่อมีโครงการใหญ่เข้ามาลงทุนแต่โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอจะทำอย่างไร ภูเก็ตจะต้องแบกรับปัญหาตลอดไป
“อยากให้ อพท.ถามคนภูเก็ตให้แน่นอนก่อน ว่าคนภูเก็ตอยากได้อ่าวภูเก็ตเป็นพื้นที่พิเศษฯจึงค่อยประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ เพราะคนภูเก็ตกลัวปัญหาที่จะตามมาจากการพัฒนา”
นางเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีหากอพท.เข้ามาดำเนินการแล้วจะสามารถแก้ปัญหาของภูเก็ตได้ เพราะที่ผ่านมาภูเก็ตได้รับการจัดสรรงบประมาณที่น้อยมาก แม้ว่าทั้ง ส.ส.และ ส.ว.จะต่อสู้ผลักดันของบประมาณมาโดยตลอดก็ตาม ซึ่งหาก อพท.สามารถบูรณาการงบประมาณได้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีของภุเก็ต ขอเพียงอย่างเดียวให้ อพท.จริงใจการที่จะพัฒนาภูเก็ต ไม่ใช่เพื่อเป็นเพียงนายหน้าในการประสานกับหน่วยงานรัฐ เอกชน กับนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น เมื่อได้ผลประโยชน์แล้วก็เลิกกันไป
ด้าน นายทศพร เทพบุตร ส.ส.ภูเก็ต ไม่เห็นด้วยที่จะประกาศให้พื้นที่อ่าวภูเก็ตเป็นพื้นที่พิเศษ อยากที่จะเก็บรักษาพื้นที่ไว้ในลูกหลานคนภูเก็ตบ้าง เพราะประกาศพื้นที่อ่าวภูเก็ตเป็นพื้นที่พิเศษ เท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งคนภูเก็ตเจ็บซ้ำและได้รับความเดือดร้อนกับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติมากแล้ว และในปี 2515 ทุนในอาเซียนสามารถที่จะเคลื่อนไหวเข้ามาลงทุนได้ทั้งอาเซียน เชื่อว่าจะมีนักลงทุนต่างสิงคโปร์และประเทศอื่นๆเข้ามาลงทุนในภูเก็ตจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 60-70% ของธุรกิจที่มีอยู่ในภูเก็ต แล้วเราจะเปิดพื้นที่ของเราให้คนต่างชาติตั้งตอนนี้เลยหรือ
นายเมธี ตันมานะตระกูล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า หาก อพท.สามารถที่จะบูรณาการในการของบประมาณมาพัฒนาภูเก็ตได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่ผ่านมาผลงานของ อพท.ยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับสักเท่าใด และ อพท.ก็ต้องมีความชัดเจนว่ามีอะไรซ่อนเร้นในโครงการอ่าวภูเก็ตหรือไม่