ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – หลังจากการสืบพยานโจทก์ปากแรก กรณีฟ้องอดีต ผบ.ตร.ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย พยานโจทก์ระบุ อดีต ผบ.ตร.ออกคำสั่งสลายการชุมนุมทั้งที่ไม่ได้มาดูเหตุการณ์ โดยฟังรายงานจากจำเลยที่ 3 ในฐานผู้บังคับการจังหวัดสงขลา ว่า ผู้ชุมชนได้ฝ่าแผงเหล็กกั้นทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ
ศาลจังหวัดสงขลานัดสืบพยานคดีฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย นัดแรกเป็นการนัดต่อเนื่อง3 วัน คือ วันที่ 24-27 มิถุนายน 2552 ปรากฏว่า ฝ่ายโจทก์ได้นำสืบพยานปากที่หนึ่ง ได้แก่นายบรรจง นะแส ตั้งแต่วันที่ 24-27 มิถุนายน นัดครั้งต่อไประหว่างวันที่ 15-17 กรกฎาคม ทนายฝ่ายจำเลย ได้แก่ นายทัศนัย ปลอดเปลี่ยว นายสถาพร ภักดีวงศ์ นายณรงค์ สีราสันต์และ นายอนุรักษ์ สวัสดีบุรี จะซักค้านพยาน และทนายฝ่ายโจทก์จะถามติงอีกครั้ง ซึ่งนัดครั้งต่อไปจำเลยขอสืบพยานลับหลัง โดยจำเลยขออนุญาตไม่ต้องมาฟังการสืบพยานเนื่องจากอ้างว่ามีภารกิจมาก
การสืบพยานนอกจากการให้การแล้วยังยังมีการเปิดวีซีดีบันทึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 และให้การยืนยันเอกสารภาพถ่ายผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกาย สภาพรถยนต์ที่ถูกทุบตีได้รับความเสียหาย และเอกสารรายงานการตรวจสอบการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีการสอบสวนหลังเกิดเหตุการณ์
นายบรรจง นะแส พยานโจทก์คนที่ 1 กล่าวว่า การที่ฟ้อง พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร.จำเลยที่ 1 เพราะเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งสลายการชุมนุม ที่สำคัญ จำเลยที่ 1 อยู่ภายในโรงแรมเจบี หาดใหญ่ อยู่ไม่ห่างกับจุดเกิดเหตุ หลังจากที่ได้รับรายงานจากจำเลยที่ 3 แล้วในทางปฏิบัติสามารถเดินทางมาดูเหตุการณ์จริงด้วยตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติ กลับเลือกออกคำสั่งสลายการชุมนุม
พล.ต.ต.สัณฐาน ชยนันท์ จำเลยที่ 3 ในฐานผู้บังคับการจังหวัดสงขลา เป็นผู้ที่รายงานเท็จต่อจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ชุมชนได้ฝ่าแผงเหล็กกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ รับประมานอาหาร ละหมาดและพักผ่อนรอการเจรจาจากรัฐบาล
พ.ต.อ.สุรชัย สืบสุข จำเลยที่ 4 ร.ต.อ.เล็ก มียัง จำเลยที่ 6 ร.ต.ท.อธิชัย สมบูรณ์ จำเลยที่ 14 และ ร.ต.ท.บัณฑูรย์ บุญเครือ จำเลยที่ 13 เป็นถึงตำรวจชั้นสัญญาบัตรควรมีวิจารณญาณว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเชื่อว่า จำเลยทั้งสี่คนได้ผ่านการฝึกอบรมและรู้หลักการขั้นตอนการสลายการชุมนุมอย่างแน่นอน ว่า ควรเริ่มจากขั้นตอนเบาไปหาหนัก เช่นต้องมีกระบวนการ เจรจา และหากจะเข้าสลายต้องประกาศให้ผู้ชุมชนทราบ
แต่จำเลยทั้ง 4 กลับไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบวิธีปฏิบัติทั้งที่เป็นถึงตำรวจชั้นสัญญาบัตร ในความเป็นจริงควรเป็นแบบอย่างที่ดีต่อประชาชน ที่สำคัญไม่ควรมีอคติกับกลุ่มผู้ชุมนุมควรใช้ความรู้ที่เรียนมาและยึดถือตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 14 เป็นถึงผู้บังคับกองร้อยแทนที่จะห้ามปรามเจ้าหน้าตำรวจในสังกัดไม่ให้ใช้ความรุนแรงแต่จำเลยทั้งสองกลับเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเสียเอง จำเลยที่ 6 เป็นผู้ปืนทุบกระจกหน้ารถหกล้อ และจำเลยที่ 14 เป็นผู้ขึ้นไปบนหลังคากระบะและขย่มรถของพยานทำให้เกิดความเสียหาย
การยื่นฟ้องในครั้งแรกทำการฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 38 นาย แต่เนื่องจากในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลจังหวัดสงขลารับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 เท่านั้น แต่ทางโจทก์ยื่นอุทธรณ์ตำรวจชั้นสัญญาบัตร แต่ไม่ติดใจที่จะอุทธรณ์ตำรวจชั้นประทวน เพราะความเห็นใจว่าต้องปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชา
ซึ่งการการปฏิบัติของจำเลยทั้ง 3 ก่อให้เกิดทำให้เสียสิทธิในการชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เป็นการละเมิดสิทธิทั้งที่กลุ่มชาวบ้านชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และก่อให้เกิดการทำร้ายร่างกาย ทำให้บาดเจ็บ อีกทั้งยังทำให้เกิดการทำลายทรัพย์สินทำให้เกิดความเสียหาย เช่น รถยนต์ที่ของผู้ชุมนุมที่จอดไว้เฉยๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับทุบตีด้วยอารมณ์โกรธพร้อมทั้งยึดรถเป็นของกลางประมาณปีเศษทำให้เกิดสลายเสื่อมโทรมและเสียหายมากขึ้น
การฟ้องคดีนี้ต้องการให้เกิดบรรทัดฐานของเจ้าหน้าที่ตรวจในการสลายการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อเป็นบรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการใช้สิทธิและการลงโทษ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ ก็สมควรที่จะได้รับการลงโทษให้เป็นแบบอย่าง ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ของรัฐควรมีทัศนคติที่ดีต่อกลุ่มผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ จากโครงการพัฒนาของรัฐบาลได้มีสิทธิในการชุมนุม หากลงโทษชาวบ้านที่ไม่ผิดจะทำให้เกิดความไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมซึ่งจะเป็นผลเสียกับประเทศชาติ