ยะลา – ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ศึกษาการก่อสร้างอุโมงค์เบตงเตรียมเสนอขุดอุโมงค์เขาสันกาลาคีรี เชื่อมมาเลย์เพื่อการค้าและการท่องเที่ยว
วานนี้ (13 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา นายคุณวุฒิ มงคลประจักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองเบตง พร้อมด้วยนายดลเดช พัฒนรัฐ นายอำเภอเบตงให้การต้อนรับนายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผวจ.สตูลและคณะสื่อมวลชนในการเดินทางมาศึกษาการขุดเจอะอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ เพื่อที่จะนำไปเป็นข้อมูลในการขุดเจอะอุโมงค์ใต้ภูเขาสันกาลาคีรีที่เชื่อมต่อกับรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซียกับ จ.สตูล
นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผวจ.สตูลเปิดเผยว่า การเดินทางมาในครั้งนี้เพื่อมาศึกษาการขุดเจอะอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ที่ทางเทศบาลเมืองเบตงได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2514 และได้ใช้ประโยชน์ในการรองรับปัญหาการจราจร และการขนส่งระหว่างชุมชนเมืองในปัจจุบันกับชุมชนเมืองใหม่โดยอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กมีความยาว 273 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร ผิวการจราจรคู่กว้าง 7 เมตรรถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมีทางเดินทางเท้าข้างละ 1 เมตร มีรางระบายน้ำทั้งสองข้างถนน มีการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดตัวอุโมงค์ พร้อมระบบระบายอากาศตามหลักวิศวกรรม โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวน 182,000,000 บาท พร้อม งบสนับสนุนจากรัฐบาล
ส่วนการก่อสร้างอุโมงค์ที่ จ.สตูลกับรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซียก่อนหน้านี้ได้มีการบินสำรวจพื้นที่พบว่าบริเวณ สันปันน้ำรอยต่อพรมแดนไทย - มาเลเซีย มีความเหมาะสมที่จะขุดเจาะภูเขาสันกาลาคีรีเป็นอุโมงค์ และทำการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อกับถนนที่ทางการมาเลเซียได้ก่อสร้างรอไว้แล้วโดยการก่อสร้างจะเป็นการก่อสร้าง 2 อุโมงค์คือ 2 เลนไปและ 2 เลนมา โดยเลี่ยงเส้นทางที่จะกระทบป่าชายเลนทั้งหมด เพื่อไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดที่ประกอบด้วย จนท.อุทยาน ทหาร กรมทางหลวงและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อทำการสำรวจออกแบบก่อนว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างอุโมงค์ลักษณะเหมือนอุโมงค์ที่เบตง
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปยังรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย เพื่อเจรจาฟื้นการค้าชายแดน การท่องเที่ยว และการก่อสร้างถนนสายสตูล-เปอร์ลิส โดยทางรัฐเปอร์ลิสได้ให้การสนับสนุนแนวความคิดของ จ.สตูล ที่เสนอให้มีการขุดเจาะอุโมงค์ภูเขาสันกาลาคีรีระยะทาง 4 กม. แทนการสร้างถนน ที่ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่ถูกกว่าการสร้างสะพานที่ใช้งบประมาณถึง 8,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ทางรัฐเปอร์ลิสและไทย จะออกค่าใช้จ่ายกันคนละครึ่ง หากดำเนินการก่อสร้างด้านไหนถูกกว่าก็จะคิดตามด้านนั้น โดยแนวคิดดังกล่าวจะนำเสนอรัฐบาลต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากอุโมงค์สร้างแล้วเสร็จก็จะสนองต่อนโยบายของรัฐบาลภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย ที่จะใช้ประโยชน์ในการคมนาคมเชื่อมโยงพื้นที่ระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อค้าขายและการท่องเที่ยวต่อไป