ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมโยธาธิการและผังเมืองทุ่มงบ 10 ล้านบาท จ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำผังอนุภาคกลุ่มจังหวัดอันดามัน ใช้ทำเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาจังหวัด คาดแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้
วันนี้ (23 เม.ย.) กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับบริษัท โมดัส คอนซัลแท้นส์ จำกัด จัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการ เรื่อง “วิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาอนุภาคกลุ่มจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง” โดยภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมประมาณ 200 คน โดยมีนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ณ โรงแรมเมโทรโพลภูเก็ต จ.ภูเก็ต เพื่อร่วมกันระดมสมองในการกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ การพัฒนา และเป้าหมายการพัฒนาอนุภาคชายฝั่งทะเลอันดามัน
นายพิชัย เครือชัยพินิต ที่ปรึกษาด้านการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินโครงการวางและจัดทำผังอนุภาคกลุ่มจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระยะ ซึ่งระยะแรกได้ดำเนินการไปแล้วในปีงบประมาณ 2551 เป็นโครงการจัดทำฐานข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อการวางผังอนุภาค
ส่วนระยะที่ 2 เป็นโครงการต่อเนื่องด้านการวางและจัดทำผังอนุภาค ซึ่งกำลังดำเนินการในปีงบประมาณ 2552 นี้ โดยนำข้อมูลที่ได้จัดทำไว้เป็นฐานข้อมูล ในรูปแบบสารสนเทศน์ด้านภูมิศาสตร์และการบริหารจัดการมาใช้สนับสนนุนในการวางและจัดทำผังอนุภาคในระยะที่ 2 นี้
โดยขั้นตอนสำคัญที่จะต้องดำเนินการในระยะที่ 2 คือ การรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพราะขณะนี้ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำกรอบรายละเอียดเบื้องต้นเสร็จทั้งหมดแล้ว 3 ผังด้วยกัน ประกอบด้วย กรอบแนวคิดกาพัฒนาแบบปัจจุบัน กรอบแนวคิดที่เป็นรูปแบบการพัฒนาแบบเหนี่ยวนำของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักของภาคใต้ และกรอบแนวคิดการพัฒนาที่ตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้และการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ ซึ่งกรอบแนวคิดทั้ง 3 กรอบนี้เป็นภาพสะท้อนจากบนสู่ล่าง (Top-Down) เท่านั้น จำเป็นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อบูรณาการภาพสะท้อนจากล่างสู่บน (Bottom-Up) เพื่อให้เป็นการวางผังแบบการมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดและยุทธศาสตร์จังหวัด
เนื่องจากกลุ่มพื้นที่ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่และตรัง หรือกลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามัน เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีทรัพยากรต้นทุนที่มีศักยภาพหลายประการ และมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล การท่องเที่ยวด้านฦธรรมชาติ ด้านสุขภาพ ด้านประวัติศาสตร์ และศูนย์กลางการจัดประชุมสัมมนา ศูนย์กลางการเกษตรครบวงจร ศูนย์กลางอุตสาหกรรมสะอาด ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งที่สามารถรองรับบทบาทการเป็นประตูเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเอเชียใต้ เป็นต้น ซึ่งศักยภาพเหล่านี้จะเป็นประโยชน์สูงสุด เมื่อมีการวางแผนและผังพัฒนาพื้นที่ในระดับอนุภาคเพื่อชี้นำแนวทางการพัฒนาพื้นที่ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงานโครงการ และมาตรการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับการพัฒนาและการขยายตัวของชุมชน และกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่จะเกิดขึ้นในอนาคคอย่างยั่งยืน
นายพิชัยกล่าวอีกว่า การศึกษาดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ย.2552 นี้ โดยใช้งบประมาณในการศึกษา 10 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จผังดังกล่าวาจะให้ทางจังหวัดในฝั่งอันดามันนำไปใช้เป็นแผนแม่บทในการพัฒนาจังหวัดและท้องถิ่น