xs
xsm
sm
md
lg

รังนกนางแอ่นเกาะสี่-เกาะห้าพัทลุง ขุมทรัพย์พันล้านกลางทะเลสาบ กับความเสียหายที่ผ่านมาใครรับผิดชอบ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง – หลังเสร็จสิ้นการยื่นซองประมูลสัมปทานรังนกอีแอ่นเกาะสี่-เกาะห้า จ.พัทลุง ด้วยราคา 709 ล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี ซึ่งบริษัท เค.โอ.ซี. อิมฟอตเอ็กฟอต จำกัด เป็นบริษัทสัมปทานรังนกรายใหม่ แต่บริษัทผู้สัมปทานเดิม ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา อ้างว่าการประมูลไม่โปร่งใส ทั้งนี้ในส่วน 7 เดือนระหว่างรอประมูลการสัมปทานทำให้เกิดช่องว่างให้ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และมิจฉาชีพ เข้าขโมยรังนก จนทำความเสียหายหลายร้อยล้านบาท ใครรับผิดชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุงว่า หลังจากการสัมปทานรังนกนางแอ่นที่จังหวัดพัทลุงได้ สิ้นสุดสัมปทานลงเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 และทางคณะกรรมการจัดเก็บรังนกนางแอ่นจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีนายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงสมัยนั้นได้ออกประกาศเพื่อจัดให้มีการสัมปทานใหม่ โดยตั้งราคากลางไว้ที่ 627 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 7 ปี แต่ปรากฏว่า ได้มีบริษัทผู้สัมปทานเดิม เบสเนส จำกัด ได้ฟ้องต่อศาลปกครองสงขลาให้คุ้มครองชั่วคราว

เนื่องจาก อ้างว่า ประกาศของกรรมการจัดเก็บภาษีรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง ไม่เป็นธรรมที่ออกเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม เช่น กำหนดวงเงินประกันซอง 75% และกำหนดวงเงินประกันสัญญา 75% ทำให้ผู้เข้าประมูลต้องมีหลักประกันประมาณ 1,000 ล้าน ในขณะที่กำหนดราคากลางไว้ต่ำกว่าปกติ

จนศาลปกครองสงขลาต้องมีคำสั่งชั่วคราวให้ระงับการประมูลไว้ จึงเป็นช่องว่างให้มีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และมิจฉาชีพ เข้าขโมยรังนก จนทำความเสียหายหลายร้อยล้านบาท แม้ทางจังหวัดจะได้ส่งเจ้าหน้าที่ ตำรวจ อส. เจ้าหน้าที่ป่าไม้กว่า 100 นาย เฝ้าดูแลเกาะอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการลักลอบขโมยกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระยะเวลา 7 เดือนที่อยู่ระหว่างการคุ้มครองของศาลปกครอง พบว่ากลุ่มผู้มีอิทธิพล นักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่บางรายมีรายได้จากการค้ารังนกในตลาดมืด มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ จนสร้างฐานะร่ำรวยในระยะเวลาอันใกล้ จากการขายรังนกอีแอ่น โดยรังนกอีแอ่นขาวเกรดเอ ตกราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 100,000 บาท และราคารังนกชนิดอื่นก็ลดหลั่นราคาลงมา

ทั้งนี้ การที่กลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ และกลุ่มมิจฉาชีพสามารถเข้าไปขโมยรังนกได้นั้น หากเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าเกาะรังนกไม่รู้เห็นเป็นใจ และเปิดทางสะดวก เชื่อได้ว่าไม่มีโจรหน้าไหนสามารถขึ้นเกาะไปขโมยรังนกได้ และปัญหาการขโมยรังนกนั้นหลายฝ่ายออกมาท้วงติงว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นใครเป็นผู้รับผิดชอบหาก ไม่ใช่กรรมการจัดเก็บภาษีอากรรังนกพัทลุงชุดปัจจุบัน แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครออกมาพูดและรับผิดชอบ

หลังจากที่ศาลปกครองสงขลาได้ยกเลิกการคุ้มครอง ทำให้คณะกรรมการจัดเก็บภาษีอากรรังนกอีแอ่นพัทลุง นำโดยนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงคนปัจจุบัน ในฐานะประธานจัดเก็บรังนกนางแอ่นพัทลุงได้เปิด ขายซองมาตั้งแต่วันที่ 1-17 เมษายนที่ผ่านมา และประมูลขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 52 ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัด โดยกำหนดตั้งราคากลางไว้เท่าเดิม ที่ 627 ล้านบาท ราคาซอง ซองละ 150,000 บาท

โดยมีบริษัทเข้าร่วมชื้อซอง จำนวน 6 รายประกอบด้วย บริษัท เคโอซี อิมฟอตเอ็กฟอต จำกัด, บริษัท โชคกิติออยแอน เซอร์วิส จำกัด, บริษัท เบสเนส จำกัด, หจก.บีวาย บิวซีเนส จำกัด, บริษัท คิวพีเอฟ (เอเชียแปซิฟิก) จำกัด และบริษัท เนชัลแนทเบส จำกัด แต่มี 2 บริษัทเท่านั้นที่ยื่นซองประมูล คือ บริษัท เคโอซี อิมฟอตเอ็กฟอต จำกัด ยื่นประมูลรังนกในราคา 709 ล้านบาท และบริษัท คิว.พี.เอฟ (เอเชียแปซิฟิก) จำกัด ยื่นประมูลรังนกในราคา 627 ล้านบาท

สำหรับบริษัท เค.โอ.ซี. อิมฟอตเอ็กฟอต จำกัด ที่ยื่นสัมปทานรังนกนางแอ่นหมู่เกาะสี่-เกาะห้า อ.ปากพะยูน ได้ในราคา 709 ล้านบาท เป็นบริษัทสัมปทานรังนกรายใหม่ ที่มีนายเกียรติกร ทรัพย์พิบูลผล เป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นบริษัทใหม่ที่ยื่นประมูลรังอีแอ่นเป็นครั้งแรก มีสำนักงานอยู่ที่แขวงลาดพร้าว กทม. และที่ผ่านมาคนทั่วไป และนักธุรกิจเกี่ยวกับรังนกอีแอ่น ไม่มีใครรู้ว่าบริษัทดังกล่าวดำเนินกิจการอะไร จนสามารถมาขอเปิดสัมปทานรังนกที่พัทลุงได้ แต่ที่รู้กันคือกลุ่มทุนของนักการเมืองระดับชาติในภาคอีสาน (ตระกูลชิดชอบ) ที่ร่วมมือกับกลุ่มผู้สัมปทานรังนกในจังหวัดสตูล โดยมีนายปรีดี มนตรี สมาชิก อบจ.เขต อ.บางแก้ว จ.พัทลุง เป็นตัวแทนบริษัทและผู้ดูแลในพื้นที่

หลังจากการเปิดซองประมูลเสร็จสิ้นลง นายปรีดี มนตรี สมาชิก อบจ.เขต อ.บางแก้ว จ.พัทลุง เป็นตัวแทนบริษัทและผู้ดูแลในพื้นที่ ได้กล่าวอย่างดีใจว่าตนรู้สึกดีใจที่สามารถเปิดประมูลได้ และตนจะปกป้องเกาะรังนก ดูแลทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้ให้ดีที่สุด สามารถใช้ประโยชน์จนถึงชั่วลูกชั่วหลานคู่พัทลุงตลอดไป แต่หลังจากนี้

อย่างไรก็ดี การเปิดซองประมูลในครั้งนี้ทางบริษัท เนชัลแนทเบส ซึ่งมีนางกมลทิพย์ ทองทิพย์ เป็นเจ้าของได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงอ้างว่าการประมูลดังกล่าวไม่โปร่งใสเอื้อประโยชน์ต่อบางบริษัท ซึ่งหลังจากนี้ทางจังหวัดจะได้มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาตรวจสอบเอกสาร และพิจารณากรณีมีเรื่องร้องเรียนก่อนการประกาศรับรองบริษัทผู้ได้รับการประมูลภายใน 3 วัน

สำหรับรายได้การจัดเก็บภาษีอากรรังนกอีแอ่นในจังหวัดพัทลุงรอบนี้ ในช่วงปีแรก อบต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูนเจ้าของพื้นที่ จะมีรายได้ 30 เปอร์เซ็นต์ คณะกรรมการได้ 5 เปอร์เซ็นต์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. อบต. เทศบาล ได้ 65 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกำไรรายปีสุทธิ 25 เปอร์เซ็นต์ จะตกเป็นของ อบจ.พัทลุง

มาถึงวันนี้ขุมทรัพย์พันล้านกลางทะเลสาบหมู่เกาะสี่-เกาะห้า ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง กำลังที่จะเข้ารูปเข้ารอย หลังจากที่มีการประมูลจนได้บริษัทผู้สัมปทาน แต่กับความเสียหาย 7 เดือนในระหว่างการคุ้มครองของศาลปกครองที่ผ่านมาใครรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือปลอยให้เลยไปตามกาลเวลา จนไม่มีใครออกมาพูดถึงคนกระทำผิดกระนั้นหรือ










กำลังโหลดความคิดเห็น