ตรัง – ประชาชนใน จ.ตรัง และ จ.พัทลุง รวมตัวกันกว่า 300 คนได้ชุมนุมประท้วงกันที่บริเวณที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าโตนเต๊ะ หลังเจ้าหน้าเข้าไปตัดโค่นฟันทำลายสวนยางพาราของชาวบ้านในพื้นที่ สร้างความไม่พอใจแก่ชาวบ้าน พร้อมยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ
วันนี้ (29 มี.ค.) นายอานนท์ สีเพ็ญ และนายบุญ แซ่จุ่ง 2 แกนนำเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด เปิดเผยว่า พวกตนพร้อมด้วยองค์กรชุมชนบ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง องค์กรชุมชน, ต.ตะแพน อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง และสมาชิกในเครือข่าย 16 องค์กร รวมจำนวน 300 คน ได้ชุมนุมประท้วงกันที่บริเวณที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าโตนเต๊ะ หมู่ที่ 2 บ้านตระ ต.ปะเหลียน เนื่องจากไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด เข้าไปตัดโค่นฟันทำลายสวนยางพาราของชาวบ้านในพื้นที่ และต้องการให้ผู้มีอำนาจในจังหวัดตรัง และจังหวัดพัทลุง เข้ามาแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา นายคม ชัยภักดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่จำนวน 65 นาย พร้อมด้วยอาวุธปืนครบมือเข้าไปในพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านตระ เพื่อตัดโค่นทำลายต้นยางพาราของชาวบ้าน จำนวน 11 ต้น ทางชาวบ้านจึงส่งตัวแทนที่เป็นผู้หญิงประมาณ 9 คน เข้าเจรจา ซึ่งทางชาวบ้านยืนยันว่าเป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิม และที่ผ่านมาไม่เคยถูกตรวจยึดดังกล่าว แต่ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นแปลงที่เคยตรวจยึดมาก่อน และยังมีการพูดจาดูถูกผู้หญิง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้าน จึงนำกำลังเข้าปิดล้อมบริเวณที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าโตนเต๊ะ
นอกจากนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวยังละเมิดต่อข้อตกลงที่ทำร่วมกันระหว่างจังหวัด ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ซึ่งมีมติว่าในระหว่างดำเนินแก้ไขปัญหาป่าเขาบรรทัด คณะอนุกรรมการเห็นชอบให้ผ่อนผันให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัย และทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อน
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแจ้งส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติ และเสนอ ครม.รับทราบต่อไป และให้คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการต่อไป
ต่อมา นายล่อง เพชรสุด แกนนำองค์กรชุมชนบ้านตระ และเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด จำนวน 7 คน ได้ยื่นข้อเสนอถึงจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ดำเนินการ จำนวน 4 ข้อ ด้วยกัน คือ
1.ให้นายคม ชัยภักดี หัวหน้าเขตอนุรักษ์ป่าเขาบรรทัด และนายสนิท องศารา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะตัวแทนผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 ประจำจังหวัดตรัง กล่าวคำขอโทษชาวบ้านในกรณีที่มีการกล่าวถ้อยคำ หรือปฏิบัติไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การนำกำลังเข้าไปในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านเกิดความเกรงกลัวในลักษณะข่มขู่ รวมถึงการพูดจาในลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่า เป็นการดูถูกชาวบ้านผู้หญิง ประมาณ 6-7 คน
2.การที่เจ้าหน้าที่ได้จัดเก็บข้อมูลภาพถ่าย-พิกัด (ระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2552) เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีแก่ผู้ทำกินที่ดินเดิม ให้มีการทำลายหรือลบทิ้งทั้งหมด เพื่อมิให้ใช้เป็นหลักฐานกล่าวอ้างว่า มีการกระทำผิดใหม่เกิดขึ้น
3.ให้ทำข้อตกลงระหว่างส่วนราชการกับตัวแทนเครือข่ายฯ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 71/2552 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2552 และมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการ คำสั่งที่ 1/2552 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2552
4.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติการข่มขู่ รื้อถอน ทำลายพื้นที่ผลทางการเกษตร และการปักปันพื้นที่ ตลอดจนให้ชาวบ้านทำกินได้ตามวิถีปกติไปพลางก่อนตามข้อ 3 โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ประสานงานกับรัฐบาลให้แจ้งเวียนมติคณะอนุกรรมการอำนวยการ เพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยตามข้อ 3
นายสนิท องศารา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะตัวแทน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ประจำจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ตนเองได้กล่าวขอโทษต่อผู้ชุมนุมประท้วงที่ไม่สามารถควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นลูกน้องในความรับผิดชอบได้อย่างทั่วถึง
จนทำให้เกิดเหตุการณ์บานปลายในลักษณะดังกล่าวขึ้น พร้อมทั้งยังตกลงรับปากตามข้อเรียกร้องที่ 2 ว่า จะให้เจ้าหน้าที่ทำลายภาพถ่ายที่จะใช้ในการประกอบคดีทั้งหมดทิ้งไป หรือจะให้ทุบทำลายกล้องทั้งหมดทิ้งก็ได้ เพื่อให้ผู้ชุมนุมประท้วงเกิดความพอใจ และยินดีจะนำเงินส่วนตัวไปซื้อกลับคืนต่อทางราชการ ส่วนข้อเรียกร้องที่ 3 และ 4 ก็พร้อมให้ปฏิบัติตามที่ชาวบ้านเสนอมาเช่นเดียวกัน