xs
xsm
sm
md
lg

นักโบราณคดีลงพื้นที่ตรวจสอบกำแพงโบราณถูกทำลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแนวกำแพงโบราณที่ยังเหลืออยู่
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักโบราณคดีลงพื้นที่ตรวจสอบกำแพงโบราณสถานอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี กลางเมืองภูเก็ตถูกทุบทำลาย

วันนี้ (4 ก.พ.) ร้อยเอก บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต พร้อมด้วยนายทวิชาติ อินทรฤทธิ์ วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต นางสาวอัจจิมา หนูคง หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสอบกำแพงเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นโบราณสถานที่คู่กับตัวบ้านชินประชา เลขที่ 98 ถนนกระบี่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ที่ป็นบ้านหรืออั้งม้อหลาวที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกิสมีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งในส่วนของบ้านชินประชานั้นได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประเภทหนึ่ง

ร้อยเอก บุณยฤทธิ์ กล่าวถึงการลงตรวจสอบร่องรอยกำแพงเก่าแก่ในครั้งนี้ ว่า สืบเนื่องมาจาก ทาง สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ได้รับแจ้งจากทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ว่ามีการรื้อกำแพงที่อยู่ด้านหน้าบ้านชินประชา ที่กำลังมีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินของเอกชนรายหนึ่ง

จากการตรวจสอบพบว่ามีร่องรอยการรื้อทำลายกำแพงเก่าแก่ แต่ไม่ทั้งหมด ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าเสียใจสำหรับชาวภูเก็ต เนื่องจากกำแพงดังกล่าวมีอายุถึง 105 ปี สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2447 และเป็นสิ่งที่คนภูเก็ตจะต้องอนุรักษ์ไว้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกำแพงดังกล่าวเท่านั้น แต่รวมไปถึงโบราณสถานอื่นๆ ด้วย ซึ่งการรื้อทำลายโบราณสถานจะต้องถูกดำเนินคดีตามหากสิ่งก่อสร้างใดถูกระบุว่าเป็นโบราณสถานก็จะมีกฎหมายคุ้มครอง เมื่อมีการทำลายก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท ตามพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุ สำหรับโบราณสถานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน แต่ถ้าเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วโทษก็จะหนักขึ้น

ร้อยเอก บุณยฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของโบราณสถานคือตัวแนวกำแพงที่มีอายุ 105 ปีที่หน้าบ้านชินประชา เมื่อมีการรื้อทำลายก็ถือว่าผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุ มาตรา 32 ซึ่งได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ตแล้ว

แม้ว่ากำแพงดังกล่าวจะไม่ได้มีการขึ้นทะเบียน แต่เป็นโบราณสถานที่มีลักษณะเข้าตามคำนิยาม คือ เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุ ประวัติศาสตร์ หรือลักษณะการก่อสร้างเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดี ซึ่งกำแพงดังกล่าวเข้าเกณฎ์ตามคำนิยามของโบราณสถานซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ ทั้งนี้ โบราณสถานนั้นจะมี 2 ประเภท คือ โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนกับโบราณสถานที่ไม่ขึ้นทะเบียน

ร้อยเอก บุณยฤทธิ์ กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวทางภาคเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินสามารถที่จะดำเนินการก่อสร้างได้อยู่แล้ว เพราะไม่ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียน แต่อาจจะไปบดบังความสวยงามของโบราณสถานด้านหลังได้ หากการก่อสร้างนั้นมีการออกแบบที่ไม่สอดคล้องกัน เข้าใจว่าการก่อสร้างใหม่สามารถทำได้ภายใต้การพูดคุยทำความเข้าใจกัน

ร้อยเอก บุณยฤทธิ์ ยังได้กล่าวถึงการทำลายโบราณสถานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่า ที่ผ่านมายังไม่พบการรื้อทำลายโบราณสถานในลักษณะที่เป็นรูปธรรมหรือชัดเจนมากนัก แต่ที่พบจะเป็นการขุดทำลายแหล่งโบราณคดี

ดังนั้น จึงอยากให้เหตุการณ์นี้เป็นกรณีตัวอย่างกรณีแรกที่สื่อไปถึงชุมชนหรือสังคมว่า โบราณสถานแม้จะอยู่ในที่ดินของใครก็ตามจะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่เป็นมรดกของคนทุกคนที่จะต้องดูแลรักษาไว้ และอยากที่จะฝากไว้ว่าในเรื่องของโบราณสถานกับการพัฒนาเมืองหรือการพัฒนาต่างๆ สามารถที่จะดำเนินการควบคู่กันไปได้ จึงอยากให้มีการมาพูดคุยกัน เพื่อจะได้ร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ของเมืองไว้เป็นเพื่อเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์บอกเล่าความเป็นมาของเมืองต่อไป
สภาพแนวกำแพงที่ยังไม่ถูกทุบทำลาย
กำลังโหลดความคิดเห็น