xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจครูชายแดนใต้ “ความรุนแรง” ไม่อาจบั่นทอนจิตวิญญาณเพื่อชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิทยา อนันต์ (เสื้อสีขาว)
รายงาน
ศูนย์หาดใหญ่

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยเราทุกคนคงต้องยอมรับว่า โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง นอกจากในแต่ละวันนักเรียนต้องใช้ชีวิตที่นี่ไม่น้อยกว่าที่บ้านแล้ว “ครู” ในบ้านแห่งนี้ยังคอยสั่งสอน สร้างเสริมประสบการณ์ต่างๆ ดั่งความปรารถนาดีที่พ่อและแม่สรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่บุตร ซึ่งแม้ว่าภารกิจของ “ครู” จะถูกเปรียบเทียบดั่ง “เรือจ้าง” แต่กลับมีความสำคัญในการสร้างอนาคตของชาติ ด้วยที่สั่งสอนลูกศิษย์และนำพาความรู้กลับสู่ถึงฝั่งเพื่อร่วมพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ ด้วยความไม่ย่อท้อ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ครู” ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ทุ่มอุทิศทั้งเวลา ความตั้งใจ และชีวิต เพื่อทำหน้าที่ประสิทธิประศาสตร์วิชาแก่เยาวชนวัยบริสุทธิ์ในพื้นที่ห่างไกลเมืองหลวง ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งมีทั้งสถานที่ราชการและประชาชนตกเป็นเหยื่อไม่เว้นแต่ละวัน

ดังเช่นโรงเรียนบ้านปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีครูทั้งหมด 26 คน นักเรียน 426 คน ก็เคยตกเป็นสถานที่ก่อเหตุความไม่สงบ ทั้งลอบยิงครูและเผาโรงเรียน อาคารเรียนหลังใหม่ก็ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ทำให้ต้องออกมากางเต็นท์เรียนกลางสนามโรงเรียน ทุกวันนี้ต้องมีกำลังทหารพร้อมอาวุธเข้ามาดูแลความปลอดภัย บางครั้งใช้รถถังลาดตระเวนรอบราวกับสถานที่แห่งนี้ตกอยู่ในสนามรบ ครูเหล่านี้จึงมีการดำเนินชีวิตที่แตกต่าง และลำบากกว่าครูทั่วไปอย่างสิ้นเชิง
นางสารีปะห์ อาษาสุจริต
นางพิทยา อนันต์ ครูโรงเรียนบ้านปะกาฮารัง กล่าวว่า แม้ว่าตนจะเป็นคนสงขลา แต่ได้มาสอนที่ปัตตานีร่วม 10 ปีแล้ว ปัจจุบันมีครอบครัวอยู่ที่บ้านเกิด แต่โอกาสเจอหน้าสามีและลูกวัย 1 ขวบเพียงวันหยุดเท่านั้น แม้ว่าใจจริงจะเป็นห่วงครอบครัวมากเพียงไรก็ตาม เช่นเดียวกับที่ครอบครัวและญาติรู้สึกเป็นห่วงในความปลอดภัยของการทำงานที่นี่ จึงพยายามพูดหว่านล้อมให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น หรือให้ลาออกไปเลย

“การที่มาทำงานที่นี้เพราะอยากทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่เช่นนั้นคงไม่อยู่ได้นานถึง 10 ปีทุกวันของการทำงานจะใช้เวลาให้กับลูกศิษย์ในโรงเรียนอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อกลับบ้านพักแล้วการจะออกข้างนอกก็หวั่นในความไม่ปลอดภัย แต่พอถึงวันศุกร์ใจก็ไปอยู่กับลูก จึงต้องกลับบ้านทุกอาทิตย์”

นางพิทยา กล่าวต่อถึงความยากลำบากในการทำงานที่นี่ว่า แม้ว่าครูทุกคนจะระมัดระวังตัว แต่ก็เคยตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งครั้งหนึ่งโรงเรียนแห่งนี้เคยโดนเผา และฆ่าครูผู้ชายท่านหนึ่งเสียชีวิต ทุกวันนี้ยังโดนขู่ทางโทรศัพท์ และทิ้งใบปลิวที่เด็กเก็บได้หน้าโรงเรียน ทำให้เสียขวัญและกำลังใจเป็นอย่างมาก แต่ก็ได้กำลังใจจากเด็กนักเรียนและเพื่อนครูด้วยกันเอง ทำให้อดทนสู้ต่อไปเพื่อเยาวชนและเพื่อชาติ

“นักเรียนซึ่งดูเหมือนจะเข้าใจความรู้สึกของครูและอยากให้ครูทุกคนอยู่ต่อ มักเข้ามาปลอบว่าครูอย่ากลัว อย่าจากพวกเราไปไหนนะ ทำให้เราผูกพันกับนักเรียนทุกคน และยิ่งตระหนักว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และอยากเห็นนักเรียนทุกคนเป็นคนมีความรู้ ความสามารถ ถึงจะอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบ ความหวาดกลัว แต่ด้วยกำลังใจ และความเข้มแข็ง ก็จะสอนที่นี้ต่อไป ไม่ทิ้งนักเรียนไปไหน”

เด็กๆในโรงเรียนบ้านปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี
ด้านนางสารีปะห์ อาษาสุจริต ครูโรงเรียนบ้านปะกาฮารัง ซึ่งเป็นคนใน จ.ปัตตานี และสอนหนังสือนาน 11 ปีแล้ว กล่าวว่า แม้ที่นี่จะเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยถือว่ามีความสุขกับการเป็นครู เพราะได้เห็นพัฒนาการของเด็กจากรุ่นสู่รุ่น และเห็นพฤติกรรมอันสดใสของเด็กวิ่งไล่จับกันกลางสนาม เมื่อได้มีโอกาสสั่งสอนจึงกลายเป็นความผูกพันที่ไม่อาจแยกครูออกจากนักเรียนได้

สำหรับเหตุการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับเพื่อครูและโรงเรียนแห่งนี้ ครูสารีปะห์ก็ยอมรับว่า แม้จะอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ยังรู้สึกอุ่นใจเรื่องความปลอดภัยอยู่บ้าง เพราะโรงเรียนเองมีการจัดประชุม ทุกๆเดือน เดือนละ 2 -3 ครั้ง เกี่ยวกับสถานการณ์ใต้ และการศึกษาของนักเรียน อีกทั้งมีทหารมาคอยรักษาการ คุ้มกันครูและนักเรียน โดยจะสลับเวรเฝ้าโรงเรียนตลอด 24 ชม. รวมทั้งการช่วยเหลือเยี่ยวยาจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กำลังใจ

รวมถึงการสนับสนุนให้โรงเรียนแห่งนี้คงอยู่ต่อไป ด้วยการมอบอุปกรณ์กีฬา ให้ทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียนกับนักเรียนหลายครั้ง จึงรู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง ทาง

“ เมื่อเราอยู่ในสังคมที่มีสถานการณ์ความรุนแรง โรงเรียนจะต้องปรับตัวให้เข้ากับชุมชน โดยมีนักเรียนเป็นสื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์ และความสามัคคี กิจกรรมที่มีภายในโรงเรียนกับผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมภายในโรงเรียน เป็นการเน้นกิจกรรมทางศาสนา สานความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับโรงเรียน มีโต๊ะอีม่ามเข้ามาพูดคุย อบรมสั่งสอนให้เกิดความสมานฉันน์ และความสงบ ”


นางสารีปะห์ ยังกล่าวอีกว่า ไม่เฉพาะตนเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้ แต่ยังมีเพื่อนครูจำนวนมากที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับความเข้าอกเข้าใจของคนในพื้นที่ รวมถึงคนภายนอกที่ก่อนหน้านี้อาจจะมองพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในมุมมองที่อคติ

“ในฐานะที่เป็นตัวแทนของคน 3 จชต. อยากจะฝากถึงคนที่อยู่ต่างพื้นที่มองว่าคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่าเป็นเมืองป่าเถื่อนนั้น เป็นเพียงการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ จึงอยากให้ทุกคนมาเยี่ยมดินแดนที่มีหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา อยู่รวมกันภายใต้ความเข้าใจ ยังมีสิ่งสวยงาม และความประทับใจอีกมาก และอยากให้นายกอภิสิทธิ์ มาเยี่ยมโรงเรียนให้การช่วยเหลือด้านสวัสดิการเพิ่มขึ้น อยากให้ปัญหาให้สงบโดยเร็ว เป็นความหวังที่คน 3 รอการแก้ไขอย่างจริงจัง”

ด้าน ด.ญ.จุฑามาส หวัง นักเรียนชั้น ป.6/2 โรงเรียนบ้านปะกาฮะรัง กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นห่วงครูมาก และพยายามให้กำลังใจตลอด เพราะกลัวว่าวันหนึ่งครูจะทิ้งพวกเราไป และไม่มีทางได้เรียนหนังสืออีก ตอนนี้พยายามตั้งใจเรียนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ อยากให้เหตุการณ์สงบเร็วๆ จะได้ไปโรงเรียนโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาเผาโรงเรียน หรือมาทำร้ายครูอีก

แม้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงยังคงมีอยู่ แต่ทุกคนที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังคงนำเนินต่อไปด้วยความหวัง และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะหล่อเลี้ยงดวงใจให้มีแรงสู้ต่อไป เช่นเดียวกับที่หวังว่ารัฐบาลจะใช้ความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมแก้ปัญหากับคนในพื้นที่ เพื่อนำความสงบสุขคืนมาโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น