ศูนย์ข่าวภูเก็ต
รอยแผลจากสะเก็ดระเบิด เป็นเครื่องตอกย้ำความทรงจำที่โหดร้ายของคนหลายๆ คน เพราะมองเห็นรอยแผลคราใด อดคิดถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตไม่ได้ และยิ่งเป็นเหตุที่สร้างความสะเทือนใจ คงยากที่จะลืมเลือน
แต่ในบางช่วงชีวิตของใครสักคน อาจยินดีและเต็มใจที่จะให้บาดแผลจากสะเก็ดระเบิดประทับอยู่บนร่างกายไปตราบสิ้นลมหายใจ หวังเพียงว่าให้บาดแผลนั่นแทนความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไปตราบชีวิตจะหาไม่
“รู้สึกแสบๆ ร้อนๆ แต่ไม่ตกใจ หรือสะทกสะท้านอะไร เพราะทำใจไว้แล้วว่า คนเราต้องตายทุกคน ต่อให้อยู่ที่ภูเก็ต หากเราจะต้องตาย ก็อาจประสบอุบัติเหตุตายได้เช่นกัน แต่นี่ไปเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ของเรา เราจึงไม่เสียดายชีวิต” นี่คือคำพูดที่กลั่นออกมาจากหัวใจของ “รจนา ชลศิริ” หรือ ป้าเล็ก หญิงวัยกลางคนหนึ่งที่พร้อมใจเข้าร่วมชุมนุมของพันธมิตร บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และได้รับของขวัญอันมีค่าที่สุดในชีวิต นั่นคือ สะเก็ดระเบิดที่หัวไหล่ด้านซ้าย
“รจนา ชลศิริ” บอกว่า ไม่ได้เดินทางไปร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่กรุงเทพฯ ทุกครั้งที่มีการเรียกรวมพล จากภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลูกที่ยังเล็กๆ อยู่ ปัญหาปากท้องที่ต้องขายข้าวไข่เจียวเพราะฐานะทางการเงินของครอบครัวอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างจะลำบาก แต่จะเข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯที่จังหวัดภูเก็ตตลอด และติดตามข่าวสารต่างๆ จาก ASTV
จนในที่สุดได้เห็นการชุมนุมของพันธมิตรฯผ่านทาง ASTV ว่า มีมวลชนเดินทางมาเข้าร่วมสมทบเป็นจำนวนมาก ใจลึกๆ ขณะนั้นรู้สึกกังวลกลัวว่าพันธมิตรฯอาจจะแพ้ ได้ถ้าพลังมวลชนที่ขึ้นไปสมทบจำนวนไม่มากพอ จึงตัดสินใจเดินทางไปร่วมสมทบการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล อีกทั้งบรรดาเพื่อนๆ ต่างบอกว่า การชุมนุมครั้งนี้ต้องเดินทางไปเข้าร่วมให้ได้ นั่นเพราะเป็นโค้งสุดท้ายม้วนเดียวจบ และในส่วนของลูกๆ ที่ภูเก็ต เพื่อนบ้านและญาติพี่น้องอาสาช่วยดูแลจึงไม่ต้องกังวลในส่วนนี้
การเดินทางเข้าร่วมชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลในคราวนั้น ปรากฏว่า โดนสะเก็ดระเบิดบริเวณไหล่ด้านซ้าย รอบเดียวกับน้องโบ “กมลวรรณ หมื่นหนู” ซึ่งเป็นระเบิดลูกสุดท้ายเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน บริเวณหน้าเวทีพันธมิตรฯ หน้าทำเนียบรัฐบาล ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยและเข้ารับการทำแผลจนเป็นที่เรียบร้อย แต่สุดท้ายกลับต้องเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากมีสะเก็ดระเบิดตกค้างอยู่
รจนา เล่าให้ฟังว่า ก่อนโดนสะเก็ดระเบิด ตนได้เดินทางไปร่วมชุมนุมกับพี่น้องพันธมิตรฯจากจังหวัดภูเก็ตไปพร้อมกัน 3 รถตู้ เมื่อไปถึงกรุงเทพฯก็ได้รับประทานอาหาร จัดหาที่พัก พร้อมเก็บสัมภาระ จากนั้นได้มานั่งฟังการปราศรัยที่เวทีพันธมิตรฯที่ทำเนียบอยู่ครู่ใหญ่ จึงเกิดการระเบิดขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้น เพื่อนๆ ได้ชักชวนไปพักค้างคืนที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ในใจคิดว่าหากพักที่โรงแรม สู้กลับมานั่งชม ASTV ที่บ้านก็ได้ แต่ที่เรามาที่นี่ เพราะเราต้องการมาให้ถึงสมรภูมิ ณ ทำเนียบรัฐบาล ขึ้นขณะนั่งฟังคำปราศรัยอยู่ครู่ใหญ่ จากนั้นได้ยินเสียงระเบิดดังมาก มีการ์ดช่วยกันหามไปปฐมพยาบาล การ์ดพันธมิตรฯทำหน้าที่ได้ดีมาก เร็วยิ่งกว่าควันเสียอีก จากนั้นจึงได้นำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลรามาฯ ทำการล้างแผล จนพบสะเก็ดระเบิดและต้องทำการผ่าตัดในที่สุด
รจนา เล่าให้ฟังต่อว่า ขณะที่โดนสะเก็ดระเบิดรู้สึกแสบๆ ร้อนๆ แต่ไม่รู้สึกตกใจ หรือสะทกสะท้านอะไร เพราะได้ทำใจไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า คนเราต้องตายทุกคน ต่อให้อยู่ที่ภูเก็ต หากเราจะต้องตาย ก็อาจประสบอุบัติเหตุตายได้เช่นกัน แต่นี่ไปเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ของเรา เราจึงไม่เสียดายชีวิต ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นอย่างไร จะต้องยุบสภาอีกกี่สมัย เราเป็นคนผู้น้อย มีการศึกษาน้อย เรื่องรัฐบาลเราอาจมีความรู้ไม่มาก แต่ที่รู้ไม่น้อยไปกว่าใครเลยนั้น คือเราไปเพื่อพระมหากษัตริย์ของเรา ซึ่งภูมิใจมากและไม่เสียใจที่ต้องบาดเจ็บในครั้งนี้
ทั้งนี้ หากถามว่าถ้ามีการชุมนุมอีก จะเข้าร่วมอีกไหม ตอบโดยไม่ต้องลังเลเลยว่า พร้อมที่จะเข้าร่วมการชุมนุมอย่างแน่นอนหากมีเหตุการณ์สำคัญๆหรือเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น คนเราเกิดมาหนเดียว และตายหนเดียว ถ้าเราจะต้องตายต่อให้อยู่ที่ไหนเราก็ต้องตาย ไม่มีใครที่อยู่ได้ค้ำฟ้า แต่หากหนึ่งชีวิตนี้ต้องตายจริงๆ ขอเลือกตายเพื่อพระมหากษัตริย์ของเราถือว่าเป็นสิ่งที่สูงสุดในชีวิต คนในครอบครัวรู้สึกภูมิใจ ที่ได้เสียสละ แม้จะต้องบาดเจ็บเพราะสะเก็ดระเบิด ไม่มีใครต่อว่าแต่อย่างใด เพราะนี่คือหน้าที่ที่เราจะต้องเข้าร่วม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้เก็บเกี่ยวมาเล่าให้ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมฟัง เราภูมิใจที่ได้ไป เราไปเพื่อพระมหากษัตริย์ นี่คือจุดมุ่งหมายที่นำพาให้เราไป และเต็มใจจะไปเข้าร่วมการชุมนุมอีกครั้งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
ถามว่าเสียใจหรือไม่กับสิ่งที่เกิดขึ้น อยากบอกว่า ไม่เสียใจ หากกลับมีความภูมิใจและความคุ้มค่าอย่างบอกไม่ถูก เราไปอย่างมีเป้าหมาย แค่เรารู้ว่าเราไปเพื่ออะไร เราไปเพื่อใคร ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะดีหรือแย่สักแค่ไหน หากเป้าหมายเราชัดเจนเราก็จะไม่เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเราเต็มที่ที่สุดแล้ว
“แผลที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่แผล แต่มันคือความภูมิใจ ตอนเปิดรอยแผลให้เพื่อนๆพันธมิตรฯดูนั้น หลายคนอิจฉา ว่าทำไมถึงไม่ได้ของที่ระลึกจากความจงรักภักดีบ้าง หลายคนอยากได้อะไรสักอย่างมาประดับอยู่บนร่างกายของเขาเพื่อเป็นที่ระลึกที่ได้มาเข้าร่วมการชุมนุม เพราะทุกคนต่างรักและเคารพพระมหากษัตริย์อย่างไม่คิดเสียดายชีวิตเช่นกัน เรื่องการเมืองอาจมีความรู้ไม่มาก ปัจจุบันเป็นแค่แม่ค้าธรรมดาคนหนึ่ง เรากำเงินอยู่ในมือ ในเงินก็มีพระเจ้าอยู่หัวของเรา เราเดินได้ เรารู้จักภาษา เราใช้เงินก็มีพระเจ้าอยู่หัว ของเรา ตกเย็นขายข้าวไข่เจียวอยู่หน้าโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็พอที่จะอยู่ได้”
นางรจนา บอกอีกว่า หลังจากยุติการชุมนุมที่กรุงเทพฯแล้ว ก็ยังติดตาม ASTV ทางเคเบิลทีวีทุกวัน ทุกเช้าจะต้องมาอยู่หน้าทีวีตลอดเวลา เพราะไม่อยากพลาดรายการดีๆ ตอนเช้าต้องเจอปอง (อัญชลี) ก่อน ถ้าไม่มีปองไม่ต้องดูก็ไม่เสียดาย แต่ถ้ามีปองต้องดูให้ได้ การพูดของเขาเข้าใจง่าย เร้าใจ บางคนบอกว่าพูดหยาบ แต่คิดว่าไม่ใช่ เพราะสมรภูมิต้องหยาบ จะมา นะคะ นะขา มันไม่ดึง ไม่ได้ใจ
จนถึงวันนี้อะไรๆ ยังไม่แน่นอน ไม่มีใครรู้ว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯจะมีขึ้นอีกหรือไม่ และไม่มีใครรู้ว่าหากมีการชุมนุมจะต้องสูญเสียอะไรอีกสักแค่ไหน แต่อย่างน้อยที่สุด ประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่ง ยังเต็มใจและพร้อมใจที่จะเอาชีวิตเข้าแลก นั่นเพราะรู้ว่าสิ่งที่ได้มา คือ การปกป้องสถาบันที่เคารพรัก และนั่นคือหน้าที่ที่มีคุณค่าที่สุดที่คนไทยคนหนึ่งที่จะทำได้...