ตรัง - กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังและพัฒนาชุดตรวจสารสเตียรอยด์ หลังตรวจพบยาโบราณอันตรายผสมสารสเตียรอยด์ เพื่อหวังผลในการรักษาโรค โดยจากการสุ่มตรวจตัวอย่างพบมีการระบาดใช้ใน จ.ตรัง และพัทลุง
นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตยาแผนโบราณบางแห่งใช้วิธีการโฆษณาสรรพคุณชวนให้ประชาชน เชื่อว่า ถ้าได้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณที่ตนเป็นผู้ผลิตแล้ว จะหายจากอาการที่เป็นอยู่อย่างรวดเร็ว
จึงขอเตือนประชาชนไม่ควรหลงเชื่อตามคำโฆษณาดังกล่าว เพราะสรรพคุณนั้นอาจเกิดจากการที่ผู้ผลิตนำตัวยาแผนโบราณ เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ปนปลอมในยาแผนโบราณ เพื่อหวังผลในการรักษาโรค ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรัง จึงดำเนินการเฝ้าระวังการปนปลอมสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ได้มีการเก็บตัวอย่างยาแผนโบราณที่มีเลขทะเบียน และไม่มีเลขทะเบียนทั้งหมดจำนวน 100 ตัวอย่าง จากจังหวัดตรัง 32 ตัวอย่าง จากจังหวัดพัทลุง 31 ตัวอย่าง และจากจังหวัดนครศรีธรรมราช 37 ตัวอย่าง
จากผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ พบสารเดกซาเมทาโซนและสารเพรดนิโซโลน จำนวน 8 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 8 ซึ่งเป็นตัวอย่างจากจังหวัดตรัง 2 ตัวอย่าง และจากจังหวัดพัทลุง 6 ตัวอย่าง ส่วนตัวอย่างจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรวจไม่พบการปนปลอมสเตียรอยด์ทุกตัวอย่าง และจากตัวอย่างที่พบการปนปลอมสารสเตียรอยด์ เป็นยาแผนโบราณที่ไม่มีการระบุเลขทะเบียนบนฉลากยา
สำหรับสารเดกซาเมทาโซน และสารเพรดนิโซโลน จัดเป็นยาแผนปัจจุบันที่อยู่ในกลุ่มคอร์ติโคสเตรียรอยด์ โดยเป็นยากลุ่มน้ำที่ควบคุมพิเศษ ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น หากประชาชนรับประทานยาชนิดดังกล่าวเป็นประจำ อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหารถึงขั้นกระเพาะทะลุได้ ทำให้ตัวบวม หน้าบวม กระดูกผุกร่อน และเปราะหักง่าย ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จนทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน มีอาการเพิ่มขึ้น หรือมีความต้องการใช้อินซูลินมากขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อใช้ยาดังกล่าวเป็นเวลานาน แล้วหยุดรับประทานอย่างกะทันหัน อาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาชุดตรวจสารสเตียรอยด์ขึ้น เพื่อใช้ทดสอบยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ที่ปนปลอมในยาแผนโบราณ โดยเป็นชุดตรวจสอบที่ให้ผลรวดเร็ว ชัดเจน และมีวิธีการใช้ง่าย ไม่จำเป็นต้องทำโดยบุคลากรที่ชำนาญเฉพาะ และสามารถนำไปใช้ภาคสนามได้
หน่วยงานที่รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข สามารถนำไปใช้ตรวจสอบได้ด้วยตนเอง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ชุดทดสอบและผลิตภัณฑ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ (02) 951-0000 ต่อ 98477, 98450