xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.สตูล ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ชะลอคำสั่งรื้อถอนรีสอร์ตบนเกาะอาดัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตูล - นายก อบจ.สตูล นำตัวแทนผู้นำท้องถิ่นยื่นหนังสือมติองค์กรท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชน ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อชะลอคำสั่งรื้อถอนรีสอร์ทบนเกาะอาดัง ขณะที่กลุ่มนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมเห็นปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินรัฐให้นึกถึงชาวบ้านในพื้นที่มากกว่านายทุน

วันนี้ (13 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.สตูล นายธานินทร์ ใจสมุทร นายก อบจ.สตูล พร้อมเหล่าสมาชิกได้นำหนังสือ มติองค์กรท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชน 7 องค์กรที่ลงรายชื่อร่วม 100 คน และมติของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในการแสดงเจตจำนง ให้มีการชะลอคำสั่งรื้อถอนโครงการไปก่อน และเสนอให้มีการแก้ปัญหาให้ บริษัท อาดังรีสอร์ท จำกัด ได้ดำเนินโครงการต่อไป ผ่าน นายช่วงชัย เปาอินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล จำนวน 2 ชุดนั้น

ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดสตูลได้ดำเนินการในเรื่องนี้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ได้มีการทำหนังสือถึงหัวหน้าอุทยานตะรุเตาให้มีการชะลอการรื้อ หรือทุบไว้ก่อน และ 2.ทางจังหวัดสตูลได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร และ 3.ได้มีการทำหนังสือถึงกรมธนารักษ์ ให้ทางกรมธนารักษ์ไปหารือกับกรมอุทยานแห่งชาติ

นายสมยศ โต๊ะหลง นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ภาคใต้ มองว่า เป็นปัญหาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะพื้นที่อุทยานต่างๆ ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากพื้นฐานการจัดการที่ดินของรัฐที่ผ่านมาเมื่อมาดูก็จะพบว่า การจัดการที่ดินของรัฐโดยเฉพาะอุทยาน ตั้งแต่เริ่มต้นมีความต้องการแยกทรัพยากรบุคคลออกมาจากพื้นที่ป่า สุดท้ายก็มีการนำที่ดินของรัฐไปให้ทุนขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่ชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ที่ดินส่วนใหญ่ถูกประเคนออกไปให้นายทุน

โดยการผลักดันออกกฎหมายต่างๆ เช่น การออกกฎหมายการจัดตั้งองค์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือว่า องค์กรเกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยวต่างๆ เป็นเครื่องมือในการจัดสรรที่ดินเหล่านี้ไปให้กับทุนกลุ่มใหญ่ ทำให้คนพื้นที่จริงๆ ไม่ได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้

นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ภาคใต้ กล่าวด้วยว่า ปัญหาของเกาะอาดัง นั้น พบว่า เป็นปัญหาระดับนโยบาย และกฎหมาย และยังเห็นว่าเป็นตัวอย่างการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม และน่าจะเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ ได้ ให้กับอุทยานหน่วยต่างๆ ให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศได้ และหลังจากนี้ เมื่อทางศาลสั่งให้อุทยานกลับคืนมาเป็นของอุทยาน ทางอุทยานตะรุเตาต้องทำให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เพื่อจะได้นำเอาทรัพยากรพื้นที่ตรงนี้กลับมาใช้ประโยชน์ให้กับคนในท้องถิ่นหรือคนใน จ.สตูล ได้จริงๆ มันจะเป็นตัวอย่างให้กับอุทยานฯอื่นๆ ในการดำเนินการในระยะต่อไป

ที่ผ่านมา การบริหารทรัพยากรนั้น มองว่า เป็นหลักแนวคิดของอุทยานทั่วประเทศ จากการพบปัญหาของชาวบ้านจากการประกาศแนวเขตอุทยานเยอะมาก อย่างเช่นการย้ายคนในท้องถิ่นออกจากพื้นที่ในแนวเขตอุทยาน เจ้าหน้าที่เข้าไปทำลายอาสิน พืชผลของชาวบ้าน เพื่อที่จะกันชาวบ้านออกจากตรงนั้น แต่ไม่ได้เข้าศึกษาข้อเท็จจริงและวิธีการแก้ปัญหาจริงๆ แต่เป็นการนึกวิธีการแก้ปัญหาจากข้อมูลที่มีไม่มากพอ

การมีส่วนร่วมของชาวบ้านนั้น ขึ้นอยู่ในดุลพินิจของแต่ละพื้นที่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้เพียงแค่แจ้งเพื่อทราบ แต่ไม่ได้มีการร่วมประชุมวางแผน แต่การกำหนดแนวเขตวางแผนการใช้ประโยชน์รวมไปถึงการรับประโยชน์ร่วมกัน และมองว่า ควรที่จะดำเนินการในทุกพื้นที่ของอุทยาน เพราะข้อ1 ได้เริ่มต้นการแก้ปัญหาจากข้อเท็จจริงๆ โดยการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจริง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจริงๆ เมื่อได้เข้าไปพูดคุยตั้งแต่เริ่มต้น ปัญหาต่างๆ ในระยะยาวจะได้รับความคลี่คลาย

สำหรับบทสรุปของกรณีเกาะอาดังนั้น มองว่า เกาะอาดังสามารถทำได้เพียงแค่ระดับ ในระดับหน่วยเหนือสามารถแก้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาจริงๆอยู่ที่ระดับนโยบายว่า จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร กรมอุทยานไม่ควรออกกฎหมายหรือเปิดช่องให้กับนายทุนเข้ามาใช้ประโยชน์ที่เกินกำลังจากพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น