xs
xsm
sm
md
lg

บสย.เสริมเขี้ยวเล็บ SMEs เจาะตลาดฮาลาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - บสย.จัดสัมมนา “โครงการให้ความรู้ผู้ประกอบการ” ให้ภาคใต้ตอนล่างปรับตัวเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส นักวิชาการคาดเศรษฐกิจเติบโตแบบชะลอตัวกว่าปีก่อน แต่ยอมรับการเมืองเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจใต้สูง นอกเหนือจากปัญหาราคาน้ำมัน ไฟใต้ จี้ลงเมกะโปรเจกต์กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว พร้อมแนะผู้ประกอบการมุ่งยกระดับการท่องเที่ยวและบริการฮาลาลสู่นานาชาติเชื่อมโยงกับ IMT-GT

เมื่อเร็วๆ นี้ บรรษัทประกันภัยสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานจังหวัดสงขลา จัดงานสัมมนาโครงการให้ความรู้ผู้ประกอบการหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจภาคใต้ตอนล่าง” ณ โรงแรมโนโวเทลเซ็นทารา หาดใหญ่ เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสามารถปรับตัวและรับมือ ท่ามกลางปัญหาและวิกฤตรอบด้าน

นายพสุธา ระวังสุข เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของภาคใต้คิดเป็น 8% ของทั่วประเทศ โดยพึ่งพารายได้จากการเกษตรเป็นหลัก 35% รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม 13% ซึ่งมีมากใน จ.สงขลา และสุราษฎร์ธานี มีประชากรคิดเป็น 14% ของประเทศ แต่มีรายได้ประชาการต่อหัวที่สูงกว่าภาคอื่นๆ จังหวัดที่มีรายได้สูงสุด คือ จ.ภูเก็ต 214,621 บาท/คน/ปี ต่ำสุดคือ จ.ปัตตานี 59,618 บาท/คน/ปี ส่วนใน จ.สงขลาอยู่ในอันดับ 3 มีรายได้ 119,620 บาท/คน/ปี

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ ปี 2551 จะเติบโตแบบชะลอตัว คาดการณ์ ณ ปัจจุบันราว 3% จากปีก่อน 2.1% โดยรายได้จากราคาพืชผลเกษตรสำคัญเพิ่มขึ้น ทั้งยางพารา ปาล์ม และการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้นทั้งภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง เงินงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจใต้ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาหนี้เสียของสินเชื่อด้อยมาตรฐาน(Subprime) และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่จีนและอินเดียก็เป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก นอกจากนี้ยังต้องจับตาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

นายพสุธา กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มธุรกิจแต่ส่งผลกระทบต่อด้านนี้โดยตรง เพราะรัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย มีงบประมาณเครื่องมือ และมาตรการที่จะช่วยเหลือเศรษฐกิจ ดังนั้น หากการเมืองมีเสถียรภาพก็จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจด้วย

“ในส่วนของภาคใต้นั้นภาครัฐต้องเร่งลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ ไม่ว่าจะเป็นเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ประกอบการต้องเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น ยางพารา เป็นต้น” นายพสุธา กล่าวต่อและว่า

สำหรับภาวะเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2551 ในช่วงครึ่งปีแรกพบว่า เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้น มีนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น ทางด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว การเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น ยกเว้นปริมาณสัตว์น้ำลดลงร้อยละ 9.1 และการลงทุนหดตัว

ด้าน ผศ.ไพรัช วัชรพันธุ์ ภาควิชาบริหารธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจภาคใต้ตอนล่างกับการต่อยอดธุรกิจว่า การพัฒนาขึ้นอยู่กับ IMT-GT โดยมีมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ โดยเฉพาะมาเลเซียต้องนำวัตถุดิบและอาหารสูง 90% โดยสินค้าส่วนใหญ่นำเข้าจากไทยสร้างแบรนด์ใหม่ก่อนส่งออกทำกำไรยังต่างประเทศ เพราะมีวิธีการบริหารจัดการที่ดี และในไม่ช้านี้มาเลเซียกำลังจะประกาศเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

“แม้ว่าคู่แข่งของไทยจะมีมากมาย ทั้งมาเลเซีย และเวียดนามที่มีสิงคโปร์หนุนหลังพัฒนาสร้างเมืองโฮจิมินและสร้างท่าเรือเพื่อจะเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ภาคใต้ก็ยังได้เปรียบเชิงทำเลที่ตั้งเหมาะกับการค้าขายต่างประเทศมากที่สุด เพราะฉะนั้นจึงต้องเร่งพัฒนาภาคใต้ให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะ จ.สงขลาด้วยเป็นเมืองชุมทางที่มีศักยภาพด้วยเป็นศูนย์กลางสถานบันการศึกษา การรักษาพยาบาล มีวัตถุดิบมากมาย เช่น ยางพารา แหล่งท่องเที่ยว ประมง” ผศ.ไพรัช กล่าวต่อและว่า

ด้านการต่อยอดการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการควรมองการท่องเที่ยวว่าเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่าง ควรจัดการตลาดการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยให้ความร่วมมือด้านการตลาดจากทุกภาคี เน้นการประชาสัมพันธ์ การสร้างภาพลักษณ์ส่งเสริมการขาย จัดช่องทางการจำหน่าย มีจิตวิทยาการบริการ ศึกษาพฤติกรรมการบริโภค และศึกษากลยุทธ์ด้านราคา

ด้านการต่อยอดธุรกิจยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ ควรมีการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น อุปกรณ์ยางเรือประมง, อะไหล่รถยนต์, ยางในรถมอเตอร์ไซค์ , ตุ๊กตายาง, เรือยาง, อุปกรณ์การเรียนการสอน, เครื่องใช้ครัวเรือนยาง และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

ผศ.ไพรัช ยังกล่าวอีกว่า แม้ว่าประชากรส่วนน้อยจะเป็นชาวมุสลิม แต่พบว่าภาคใต้ตอนล่างกลับมีศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจผลิตภัณฑ์ฮาลาลป้อนตลาดโลกซึ่งมีกว่า 200 ล้านคน ประกอบกับนักท่องเที่ยวของภาคใต้ตอนล่างส่วนใหญ่มาจากมาเลเซีย อินโดนีเซียซึ่งเป็นชาวมุสลิม จึงต้องยกระดับให้มีการท่องเที่ยวและบริการฮาลาล ทั้ง มีร้านอาหาร-ภัตตาคารฮาลาล, โรงพยาบาล,โรงแรมฮาลาล และรีสอร์ตฮาลาล ให้เกิดการยอมรับทางการตลาดในระดับนานาชาติ โดยการทำการส่งออกทั้งตลาดภายใน และต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย, จีน, อินโดนีเซีย เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น