xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ มอ.ปัตตานี แนะติดตามข่าวการเมืองอย่างสร้างสรรค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัตตานี – นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา มอ.ปัตตานี เสวนา แนะแนวทางการติดตามขาวสารการเมืองภาคประชาชนอย่างสร้างสรรค์ ระบุ เน้นเรื่องการเรียนรู้ อย่าดูข่าวเหมือนดูละคร

คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี)จัดเสวนาในหัวข้อ “การเมืองร้อน ประชาชนแบ่งข้าง เราจะติดตามการเมืองอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร” โดยเชิญ รศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี, อ.จารียา อรรถอนุชิต รองคณบดี คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี,นายตรีพิพัฒน์ บัวเนี่ยว นักวิจัยอิสระในพื้นที่ภาคใต้ และผู้แทนนักศึกษา มอ.ปัตตานี ร่วมการเสวนาโดยมี อ.ภีรกาญน์ ไค่นุ่นนา อ.คณะวิทยาการสื่อสาร ดำเนินรายการ

ในการพูดคุยครั้งนี้ ได้มีการวิเคราะห์ถึงกรณีที่ผลสำรวจความคิดเห็นเอแบคโพลล์ ระบุว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ ประชาชนมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับข้างใดข้างหนึ่ง แต่กลับมีผู้วางตัวเป็นกลาง ไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่งสูงถึง 59% เป็นการสะท้อนถึงอะไรในสังคมอย่างไรหรือไม่

ขณะที่การติดตามข่าวสารการเมือง ในลักษณะของการเลือกข้าง และสถานการณ์ที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง และมีความเข้มข้นชวนติดตามทุกขณะ ส่งผลอย่างไรกับผู้รับสารที่ติดตามข่าวการเมือง และเราจะมีวิธีทำอย่างไร ที่จะไม่ให้เครียดไปกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

รศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวแนะนำถึงการติดตามข่าวสารการเมืองไม่ให้เครียดและสร้างสรรค์ ว่า ในการติดตามสถานการณ์การเมืองปัจจุบันนั้น ถ้าเราเน้นในเรื่องการเรียนรู้ เน้นเรื่องความคิดแล้วก็จะไม่ขัดแย้งกันมาก เพราะการเลือกฝ่ายนั้นทุกคนมีสิทธิที่จะเลือก คนที่ไม่เลือกก็เป็นสิทธิที่จะไม่เลือก หรือคนที่เลือกแต่ไม่พูดไม่บอกก็มีสิทธิที่จะไม่พูด ก็จะมีคนหลายประเภทในสังคมที่ซับซ้อนในขณะที่มีการต่อสู้ที่รุนแรง

ดังนั้น ทางที่ดีในการติดตามข่าวสาร หรือการนำมาพูดคุยระหว่างกัน ในเรื่องประเด็นทางความคิดก็คือว่า ควรจะหาจุดกลางข้อเสนอของแต่ละฝ่าย มีความเป็นมา มีแนวคิดอะไร แล้วนำมาแยกเป็นส่วนๆ วิเคราะห์ติดตามเป็นเรื่องๆ แล้ว ในการที่ประชาชนจะพูดคุยการเมืองต่อกันเอง ก็ต้องมาตกลงกันว่าจะพูดคุยกันได้ไหมในแต่ละแนวคิดเป็นเรื่องๆไป เช่นเรื่องประชาธิปไตยในแนวคิดเป็นอย่างไร เรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นอย่างไร เรื่องคุณธรรมจริยธรรมของการเมืองเราเป็นอย่างไรควรจะแก้อย่างไร ความชอบธรรมของรัฐบาลมีปัญหาอะไร เกิดจากอะไรและเราจะแก้อย่างไร เป็นต้น

ทั้งนี้ เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบันนี้ ก็คือ ความแตกต่างทางความคิดทั้งนั้น แต่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นการต่อสู้ในทางการเมือง การปลุกระดมความรู้สึกที่แตกต่างกัน แต่ถ้าหากเราดึงข้อมูลที่ดีของแต่ละฝ่าย แล้วนำกลับมาพูดคุยกันเองในเรื่องความคิดทางการเมือง ก็จะเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยกันหาทางออกทางความคิด และพัฒนาทางการเมืองไทย แล้วก็จะเป็นเรื่องสามารถแบ่งปันทางความคิดระหว่างกันได้ โดยไม่มีความขัดแย้งไม่มีความเครียด

“ก็ใช้วิธีแบบว่า บางครั้งเห็นด้วยกับความคิดพันธมิตรฯ 2 ข้อ เห็นด้วยกับ นปก. 1ข้อ เห็นด้วยกับฝ่ายโน้น 1 ข้อ ทีนี้ก็เอามาผสมกันในทำนองนี้ อันนี้ก็คือเป็นวิธีการมองเรื่องความคิด และถ้ามั่นใจว่าเราเองมีการต่อสู้ทางความคิดได้ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครว่า” รศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ด้านนายตรีพิพัฒน์ บัวเนี่ยว นักวิจัยอิสระในพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า ข้อแนะนำต่อประชาชนในเรื่องการติดตามข่าวสารการเมือง ก็คือ ที่ผ่านมา ประชาชนมีพื้นฐานการดูละคร มีพระเอก มีผู้ร้าย แต่ตอนนี้ประชาชนต้องรู้ตัวว่าเรากำลังดูข่าว อย่าดูข่าวด้วยทัศนะแบบผู้ดูละคร เพราะสื่อเองก็มีแนวโน้มที่จะนำเสนอข่าวที่มีโครงเรื่องแบบละคร

ตรงจุดนี้ประชาชนต้องรู้ตัวเองว่ากำลังดูข่าว ถ้าเราไปซาบซึ้งกับข่าวว่าเป็นเหมือนบทละครที่จะต้องมีพระเอกมีผู้ร้าย เมื่อเราติดตามข่าวแบบนั้น ทุกวันมันก็จะเกิดความเครียด เพราะเราเริ่มจะถือหางผู้เล่นคนนั้นคนนี้

ขณะเดียวกัน ในการรับข้อมูลจากสื่อ ก็อย่าไปคาดหวังว่าสื่อทั้งหมดจะเป็นกลาง เพราะถ้าเราไปคาดหวังก็จะยิ่งเครียด ทางออกจึงอยู่ที่ว่า เราแค่ติดตามดูข่าว แต่อย่าไปคาดหวัง เพียงแต่บอกกับตัวเองให้ได้ว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากข่าวการเมืองก็พอแล้ว อย่างไปคาดหวัง

“ถ้าเราดูข่าวแบบคนที่มีการตื่นตัว ใครจะเป็นกลางไม่เป็นกลางไม่เกี่ยวกับเราเลย เราดูข่าวเพื่อดูว่าเราได้เรียนรู้อะไรแค่นั้นพอ สองอย่างเท่านั้นคืออย่าดูข่าวแบบดูละคร และอย่าคาดหวังอะไร เน้นการเรียนรู้เป็นหลัก” นายตรีพิพัฒน์ กล่าว

ขณะที่ อ.ภีรกาญน์ ไค่นุ่นนา อ.คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี กล่าวเสริมประเด็นนี้ ว่า ในประเด็นทางการเมืองที่ประชาชนผู้รับสารติดตามข่าวการเมืองในขณะนี้ หากประชาชนจะมีการพูดคุยประเด็นทางการเมืองระหว่างกัน ก็ควรระวังในการพูดคุย เพราะบางกลุ่มบางคนอาจจะไม่มีการประกาศตัวเลือกข้างชัดเจน

การพูดคุยกันโดยหยิบยกประเด็นข่าวจากสื่อ จึงต้องมีความระมัดระวังตัวเองในการพูดคุย โดยให้ใช้ประเด็นหรือเรื่องราวเนื้อหาจากข่าวที่มีความคิดแตกต่างกันเหล่านั้นมาหารือกัน ไม่ใช่การนำอารมณ์ความรู้สึกจากข่าวมาพูดคุยกัน เพราะบทบาทของสื่อในขณะนี้ ก็มักจะเป็นในลักษณะที่เอาอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละฝ่าย มานำเสนอแบบโต้กันไปโต้กันมาเหมือนกัน

ทางด้าน อ.จารียา อรรถอนุชิต รองคณบดี คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี กล่าวว่า ประการแรกเลย คือ ขอให้ประชาชนอย่าเบื่อหน่ายการติดตามข่าวสารการเมืองในขณะนี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะพลาดโอกาสทางการเมืองการปกครองในหลายอย่าง

ขณะเดียวกัน เมื่อดูข่าวการเมืองในปัจจุบัน ประชาชนผู้ชมก็ควรเลือกนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในข่าวที่ได้ดูมาใช้ในการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความคิดที่เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เพื่อจะได้ศึกษาดูว่าเนื้อหาโดยละเอียดหรือเบื้องลึกเบื้องหลัง เหตุและผลของการเกิดประเด็นต่างๆ ทางการเมืองคืออะไร เกิดจากสาเหตุอะไร

เมื่อประชาชนได้ดูข่าวแล้วก็ต้องศึกษาหรือคิดวิเคราะห์ที่มาที่ไปด้วย แล้วความคิดทางการเมืองหรือประเด็นใดที่พิจารณาแล้ว เห็นว่า เป็นประโยชน์ในการพัฒนาความคิดของเราได้ เราก็ควรจะนำกลับมาเป็นตัวกระตุ้นความกระตือรือร้น ที่จะจุดประกายทางความคิดทางการเมืองต่อไป เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน

“อยากขอร้องว่า อย่าเบื่อการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่เราจะหนีไม่พ้น เพราะฉะนั้นการติดตามข่าวการเมืองขณะนี้จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้ ดังนั้น ควรติดตามข่าวสารอย่างหลากหลาย และรู้เท่าทัน แล้วประเด็นไหนที่คิดว่ามันใช่สำหรับเรา เราก็พิจารณาด้วยเหตุและผลด้วยวิจารณญาณ ซึ่งคิดว่าทุกคนมีเท่ากัน” อ.จารียา กล่าวและว่า

ในเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ และการสื่อข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น ในเรื่องที่พูดว่าให้สื่อเลือกข้างนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าสื่อเลือกข้างก็จะเป็นการกระทำที่ผิดต่อจริยธรรมของสื่อ ขณะที่ผลสำรวจที่พบว่าประชาชน 59 % ยังวางตัวเป็นกลางนั้น ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่มั่นใจในการตัดสินใจ หรือยังไม่อยากบอก ยังไม่อยากเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ตรงจุดนี้จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่สื่อควรจะเปิดพื้นที่สาธารณะผ่านสื่อให้ประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะเปิดพื้นที่ให้กับคน 59% ตรงนี้ว่าเขาต้องการบอกอะไรกับสังคมกันแน่ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็มีสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสแล้ว ก็น่าจะใช้โอกาสตรงนี้เปิดพื้นที่พูดคุยสถานการณ์เบื้องลึกเบื้องหลัง สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น