xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการ” ชี้ข้อหากบฏแรงเกินเหตุ จี้ “หมัก” ลาออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการจากสถาบันชื่อดัง ประสานเสียงโต้ข้อหากบฏรุนแรงเกินเหตุ หวังกำจัดแกนนำพันธมิตรฯ ให้พ้นทาง ชี้การชุมนุมภาคประชาชนอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ล้มล้างรัฐบาล เตือนอย่าใช้ความรุนแรง เชื่อเหตุการณ์บานปลาย จี้ “สมัคร” ลาออก

วันนี้ (28 ส.ค.) นายประเสริฐ ชิตพงศ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.สงขลา เปิดเผยว่า ข้อหากบฏที่ตำรวจแจ้งต่อแกนนำพันธมิตรฯ เป็นข้อหาที่รุนแรงเกินเหตุ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งข้อหารุนแรงน่าจะมีเจตนาแอบแฝงที่ไม่ต้องการให้มีการประกันตัว เพื่อจะได้หยุดการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ขณะเดียวกัน นายประเสริฐ เห็นว่า การชุมนุมที่ผ่านมาถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่ถูกมองว่าบริหารงานผิดพลาดจึงได้เรียกร้องให้ลาออก ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และไม่ใช่เป็นการใช้กำลังล้มล้างรัฐบาล

ด้าน นายสุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ เห็นด้วยว่า เป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินเหตุ ซึ่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นการเคลื่อนไหวภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ยึดแนวทางสันติวิธี และมองว่าการบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์เอ็นบีทีมีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ เสียหาย

ส่วน นายสุรชัย ศิริไกร อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เห็นสอดคล้องกันว่า การตั้งข้อหากบฏเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก ไม่มีเหตุผลรองรับ โดยเห็นว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เรียกร้องรัฐบาลให้ลาออกเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบของประชาชนที่สามารถกระทำได้ และเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาไม่ได้ใช้ความรุนแรงใดๆ แม้จะมีเหตุกระทบกันบ้าง ขณะบุกยึดสถานที่ราชการบางแห่ง แต่ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นใช้กำลังเข้าล้มล้างระบอบการปกครองที่เป็นเหตุให้ทางรัฐบาลใช้เป็นสาเหตุตั้งข้อหา มีการกระทำอันเป็นกบฏ

ขณะเดียวกัน นายสุรชัย กล่าวเตือนรัฐบาลว่า หากใช้มาตรการรุนแรงเข้าปราบปราม เชื่อว่าประชาชนจะไม่ยอม และอาจลุกลามขยายตัวออกไป นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทบทวนตัวเองด้วยการลาออก ซึ่งก่อนหน้านี้ กรุงเทพโพลล์ ได้สำรวจความเห็นคนกรุงเทพฯ 1,023 คน พบว่า ร้อยละ 65 เห็นว่าควรเปลี่ยนรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น