xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ร่วมชาวสวนปาล์มผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระบี่ - กฟภ.ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชชีวภาพ กับชุมนุมสหกรณ์ ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ใช้เงินลงทุน 95 ล้านบาท

วันนี้ (8 ส.ค.51) นายธันวาคม เขมะศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และนายสัมพันธ์ หุ่นพยนต์ กรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชชีวภาพ ระหว่างชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่จำกัด กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีนายสุริยา ชุ่มใจ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรรณ์ฯ นายชาติ บุญชู เลขานุการชุมนุมสหกรณ์ฯเป็นผู้ลงนามในนามชุมนุมสหกรณ์ ฯ และนายพงศกร ตันติวณิชชานนท์ รองผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ลงนามในนามการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ณ ห้องประชุม สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดกระบี่

นายพงศกร ตันติวณิชชานนท์ รองผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กฟภ. เปิดเผยว่า การลงนามโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชชีวภาพเป็นความร่วมมือระหว่าง กฟภ. กับ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าชชีวภาพจากน้ำที่เหลือจากกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์ม เพื่อสนับสนุนนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาลและสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์น้ำมันปาล์มของจังหวัดกระบี่

การดำเนินการโครงการดังกล่าวจะใช้พื้นที่ของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 39 ม. 1 ต.คลองยา อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เป็นสถานที่ดำเนินโครงการ ซึ่งใช้เทคโนโลยี Hybrid Anaerobic Fixed Film ติดตั้ง Gas Engine ซึ่งมีกำลังการผลิต ไฟฟ้า 2 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนทังหมด 95 ล้านบาท และมีอายุโครงการ 15 ปี โดยไม่รวมปีที่ก่อสร้าง ซึ่งเป็นระบบที่มีการผสมผสานที่มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตก๊าช มีกระบวนการทำงาน 3 ขั้นตอนด้วยกัน

ขั้นตอนที่ 1 น้ำที่เหลือจากกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มจะถูกนำไปปล่อยในบ่อพัก เพื่อให้อุณหภูมิลดลง
ขั้นตอนที่ 2 น้ำดังกล่าวจะถูกนำเข้าสู่ถังหมักเพื่อผลิตก๊าชชีวภาพโดยอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์
ขั้นตอนที่ 3 ก๊าชชีวภาพที่ได้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป

ข้อดีของระบบก๊าชชีวภาพแบบ Hybrid Anaerobic Fixed Film คือระบบสามารถกักเก็บจุลินทรีย์ที่จำเป็นต่อการผลิตก๊าชชีวภาพ ทั้งในรูปแบบของตะกอนจุลินทรีย์แขวนลอย และฟิล์มชีวะ (Bio films) ทำให้ระบบสามารถผลิตก๊าชได้อย่างมีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอ ซึ่งเหมาะสมต่อการนำก๊าชชีวภาพไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า

นายพงศกร เปิดเผยอีกว่า การดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชชีวภาพเมื่อเสร็จ จะสร้างประโยชน์หลายประการ ได้แก่ ส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน

จากการดำเนินการกลไกการพัฒนาที่สะอาด(Clean Development Mechanism:CDM ) เพิ่มความมั่นคงและคุณภาพไฟฟ้าของการจ่ายไฟในพื้นที่โครงการซึ่งสามารถดำเนินการจ่ายไฟในพื้นที่ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ได้ประมาณ 10,000 ครัวเรือน ในกรณีใช้ไฟไม่เกิน 80 หน่วยต่อครัวเรือน ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนทำให้เกิดการจ้างงาน เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมทั้งสามารถนำตะกอนไปทำเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อแจกจ่ายเกษตรกรได้ ภายหลังจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงแล้ว กฟภ.จะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าชชีวภาพต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น