ศูนย์ข่าวภูเก็ต-คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา ตั้งคณะอนุกรรมการโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว ศึกษารายละเอียดผลักดันภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว หวังแก้ปัญหาขาดงบประมาณแก้ปัญหาและพัฒนาเมืองภูเก็ต
สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต จัดประชุมสามัญประจำปี 2551 เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ และนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ปี 2551-25513 พร้อมทั้งจัดเสวนาเรื่อง “สถานการณ์การการท่องเที่ยวของภูเก็ตในอนาคต” โดยนายสงคราม ชื่นภิบาล ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย ประธานกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภา ร้อยโทภูมิศักดิ์ หงส์หยก สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา และนายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งผลการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ปรากฏว่านายสมบูรณ์ จิรายุส ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต
อย่างไรก็ตาม ในการเสวนาเรื่องสถาการณ์การท่องเที่ยวของภูเก็ตในอนาคต เห็นว่าการผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาที่รื้อรังในหลายประการของภูเก็ตและเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของภูเก็ตในอนาคต
นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย ประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตถือว่าว่าเป็นจังหวัดที่ทำรายได้เข้าประเทศประเทศปีละจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาภูเก็ตกลับไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลเท่าที่ควรในการพัฒนาด้านต่างๆ ทำให้ปัญหาต่างๆของภูเก็ตไม่ได้รับการแก้ไขตามที่ควรจะเป็น และที่น่าเป็นห่วงมากๆ สำหรับภูเก็ตในขณะนี้ คือ มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติมุ่งที่เข้ามาลงทุนในภูเก็ตทั้งสิ้นเพราะมองเห็นผลกำไรที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งคนภูเก็ตจะต้องทบทวนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากปล่อยไว้อย่างนี้ภูเก็ตก็จะทรุดโทรมต่อไปเรื่อยๆ
ร้อยโทภูมิศักดิ์ หงษ์หยก สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตถือเป็นศูนย์รวมของความเจริญอยู่ในอันดับต้นๆของประเทศ ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 200,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นภาพลวงหน้าและสิ่งที่หน้าตกใจหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวบอกว่าการท่องเที่ยวสามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาล โดยที่ใช้ต้นทุนในการลงทุนต่ำมาก
เรื่องนี้ตนขอค้านเพราะในการส่งเสริมการท่องเที่ยวดึงคนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว เราได้สูญเสียต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมไม่มาก จากที่ทรัพยากรที่มีอยู่เสื่อมโทรม ปัญหาสังคมต่างๆ เกิดขึ้น รัฐบาลยุคที่ผ่านๆมามองว่าภูเก็ตร่ำรวยแล้ว สามารถที่จะช่วยตัวเองได้แล้ว ทำให้การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นน้อยมากจากรัฐบาล เพราะการจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมา รัฐบาลจัดสรรตามจำนวนประชากรในทะเบียนราษฎร์ ซึ่งภูเก็ตมีจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์น้อยมาก ซึ่งเป็นจุดอ่อนในการผลักดันของบประมาณของภุเก็ต
“ที่ผ่านมาการหางบประมาณมาพัฒนาภูเก็ตได้รับความร่วมมือจากสภาพัฒน์ฯในการจัดทำแผนปฏิบัติการภูเก็ตเมืองนานาชาติ แต่ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ทั้งหมด 100% และขณะนี้แผนดังกล่าวก็เงียบไปอีก เพราะต้องนำไปรวมกับแผนอื่นๆ แต่ก็ยังโชคดีที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณผ่านทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้าง ทำให้ภูเก็ตมีปัญหาด้านงบประมาณที่จะลงมาพัฒนาพื้นที่” ร้อยโทภูมิศักดิ์ กล่าวและว่า
ส่วนตัวคิดว่าแนวทางในการที่จะแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณในการพัฒนาภูเก็ตนั้นจะต้องหาช่องทางพิเศษในการผลักดันงบประมาณเพิ่มขึ้น รวมไปถึงภูเก็ตน่าที่จะมีอำนาจในการตัดสินใจที่จะให้สัมปทานเอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการใหญ่ที่เป็นโครงการพัฒนาเกาะภูเก็ต ซึ่งขณะนี้ภูเก็ตเองก็กำลังประสบปัญหาโครงการใหญ่ไม่เกิดขึ้นจากการขาดงบประมาณและเอกชนไม่สามารถเข้ามาลงทุนแทนรัฐได้เพราะติดขัดในกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ดังนั้นเห็นว่าน่าที่จะทำให้ภูเก็ตเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว” ในการแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณ มีอำนาจในการให้สัมปทานเอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาด้านต่างๆ
ด้านนายสงคราม ชื่นภิบาล ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว โดยมีตนเป็นประธานและมีคณะอนุกรรมาธิการประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายจเด็จ อินสว่าง รองเลขาธิการสศช. นักกฎหมาย นักวิชการด้านการท่องเที่ยว ผู้แทนจากจังหวัดภูเก็ต นายปมุข อัจฉริยะฉาย ทำการศึกษารายละเอียด รูปแบบ กฎระเบียบ กฎหมายที่จะทำให้ภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน
หลังจากนั้นก็นำเสนอข้อมูลทั้งหมดสู่คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา เมื่อคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวเห็นชอบก็จะเสนอคณะกรรมาธิการวุฒิสภา เพื่อพิจารณาหากเห็นชอบก็จะเสนอรัฐบาลเป็นขั้นตอนต่อไป และเมื่อรัฐบาลเห็นด้วยก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการนำเสนอสภาพัฒน์ฯเพราะในคณะอนุกรรมาธิการฯมีรองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯร่วมอยู่ด้วย
“ภูเก็ตจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว เพราะขณะนี้ภูเก็ตมีปัญหาในเรื่องงบประมาณที่จะนำมาพัฒนา มีปัญหาในการบริหารจัดการ ซึ่งเชื่อว่าหากภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษฯปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไขให้หมดไป เพราะจะมีเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหาที่จะนำเสนอแผนงานโครงการของบประมาณมาดำเนินการ ” นายสงคราม กล่าวและว่า
สำหรับรูปแบบของการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวของภูเก็ต จะต้องรอคณะอนุกรรมการฯศึกษาให้แล้วเสร็จ แต่ในเบื้องต้นจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียวจะไม่เกี่ยวกับด้านอื่นๆ ซึ่งในหลายประเทศจะมีการกำหนดให้เมืองต่างๆเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านต่างๆ และประสบความสำเร็จในการพัฒนาทั้งสิ้น