xs
xsm
sm
md
lg

โขกน้ำมันลิตรละ 40 พลังงานทดแทนใต้ล่างป่วน ปชช.แหกด่านติด “แอลพีจี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นโยบายรัฐบาลหนุนเอ็นจีวีเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มี ปตท.เป็นผู้ลงทุนรายเดียวในไทยยังเกินเอื้อม เผยสถานการณ์ที่สงขลาซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องโครงการพลังงานทดแทนเอ็นจีวีนั้นกลับไม่เติบโตเท่าการติดตั้งแอลพีจี ประชาชนรอไม่ไหวฝ่าด่านสกัดติดตั้งก๊าซแอลพีจีเพิ่มเป็น 4 เท่าของเอ็นจีวี ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตถังบรรจุแอลพีจี มีความปั่นป่วนตามดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น ต้องจองคิวติดตั้งถังก๊าซสนานนับเดือน ขณะที่ปั๊มบริการผุดขึ้นราวดอกเห็ดและจ่อคิวผุดอีกหลายแห่ง โดยไม่สนคำขู่ปล่อยลอยตัวราคาแอลพีจี ในอนาคตอันใกล้

สถานการณ์น้ำมันที่แพงขึ้นในขณะนี้กว่า 40 บาท/ลิตร ทำให้ประชาชนหันมาติดตั้งแอลพีจี เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกและประหยัดค่าใช้จ่าย การเติบโตของการใช้แอลพีจีในรถยนต์นั้นทำให้มีสถานีติดตั้งก๊าซแอลพีจี และบริการเติมแอลพีจีครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ แม้ว่ารัฐบาลประกาศหนุนการใช้เอ็นจีวี และประกาศจะลอยตัวแอลพีจีตามที่มีการคาดว่าน่าจะ 23 บาท/ลิตรก็ตาม แต่จากการสำรวจใน จ.สงจลา ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องโครงการใช้เอ็นจีวีในรถยนต์กลับพบว่าการเติบโตของแอลพีจียังมีสัดส่วนมากกว่ามาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันมีสถานีติดตั้งและปั๊มแอลพีจีราว 20 แห่ง ซึ่งมีจำนวนมากเป็นลำดับ 2 รองจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์

นางหนูทิพย์ คงทิพย์พยัคฆ์ เจ้าของร้าน โอ.เค.มอเตอร์แอร์ ซึ่งบริการติดตั้งแอลพีจีรถยนต์เจ้าแรกของหาดใหญ่ ตั้งแต่ปี 2548 เปิดเผยว่า การติดตั้งก๊าซแอลพีจีในขณะนี้ต้องมีการจองคิวล่วงหน้า เพราะอุปกรณ์การติดตั้งขาดแคลน โดยเอเยนต์จากกรุงเทพฯ สั่งซื้อมาจากประเทศญี่ปุ่นที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ และในต่างประเทศเองก็มีความต้องการอุปกรณ์ติดตั้งแอลพีจีด้วย ทำให้มีความปั่นป่วนพอสมควร แต่หากไม่มีปัญหาอุปกรณ์ก็จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการทุกวัน

สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ให้ไว้วางใจติดตั้งแอลพีจีในรถยนต์นั้นมีทั้งรถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งเป็นรถยนต์โดยสารขนาดเล็กที่บริการในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ไปจนถึงรถยนต์รุ่นใหม่ป้ายแดง และมีลูกค้าจากกรุงเทพฯ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานีเดินทางมาใช้บริการ ซึ่งทางอู่จะมีใบรับรองการติดตั้งโดยวิศวกรเครื่องกลให้กับลูกค้ายื่นให้ขนส่งจังหวัดตรวจสภาพการดัดแปลงเครื่องยนต์อีกครั้ง

"ยิ่งราคาน้ำมันแพงขึ้น ผู้ใช้รถก็หันมาติดตั้งแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์มากขึ้น เพราะการติดตั้งถูกกว่าเอ็นจีวี บรรจุก๊าซได้มาก และหาปั๊มเติมได้ง่ายกว่าด้วย ส่วนความปลอดภัยนั้นก็ไม่ต่างกัน แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้ส่งเสริมก็ตาม แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ประชาชนก็เลือกที่จะประหยัดไว้ก่อน" นางหนูทิพย์กล่าว

สำหรับค่าบริการติดตั้งระบบเชื้อเพลิงรถยนต์จากแก๊สแอลพีจีขึ้นอยู่กับความจุของถังได้แก่ความจุ 25 ลิตร เหมาะสำหรับรถตุ๊กตุ๊ก ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 18,500 บาท,ความจุ 58 ลิตร ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 22,000 บาท, และที่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุก 1,000 บาท ที่ความจุ 75 ลิตร และ 100 ลิตร

นางหนูทิพย์ กล่าวด้วยว่า แม้รัฐจะกีดกันไม่ให้ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ แต่โอกาสของการเติบโตนั้นมีมากกว่าเอ็นจีวี เพราะผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นทั้งอู่และปั๊มบริการมีความสนใจที่จะลงทุนด้านนี้ และความพร้อมของภาคใต้เองก็สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้จากแหล่ง JDA ซึ่งน่าจะนำมาใช้ประโยชน์ให้มาก

ด้านนายวิชิต ชุณหสุนทร ผู้จัดการ ปั๊มแอลพีจี อานนท์ อ.นาหม่อม จ.สงขลา เปิดเผยว่า จำนวนลูกค้าที่หันมาเติมก๊าซนั้นเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากเมื่อปี 2549 ด้วยปัจจุบันการจำหน่ายอยู่ที่ลิตรละ 11 บาท การลงทุนประกอบธุรกิจด้านนี้จะใช้เงินลงทุนน้อยกว่าปั๊มน้ำมันและมีโอกาสเติบโตสูงด้วยความตื่นตัวของผู้ใช้รถยนต์แอลพีจีที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีปั๊มแอลพีจีใหม่ทยอยเกิดขึ้น สวนทางกับปั๊มน้ำมันที่ทยอยปิดตัวลงเรื่อยๆ ขณะที่การลงทุนปั๊มเอ็นจีวีต้องใช้เงินทุนอย่างต่ำ 30 ล้าน ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถทำได้ จึงมีเพียง ปตท.เท่านั้น

"แม้ว่ารัฐบาลจะไม่สนับสนุนแอลพีจีในรถยนต์ โดยรัฐบาลจะประกาศขึ้นลอยตัวแอลพีจี แต่ก็ไม่สามารถกีดกันประชาชนได้ เพราะการติดตั้งแอลพีจีถูกกว่าเอ็นจีวีเท่าตัว และสามารถหาสถานที่เติมง่ายครอบคลุมทุกจังหวัด ดังนั้น หากลอยตัวราคาอยู่ที่ 20 บาท/ลิตร ลูกค้าก็ยังรับได้ และเชื่อว่าไม่มีปัญหาการขาดแคลนแอลพีจีเกิดขึ้นเหมือนกับเอ็นจีวีแน่นอน โอกาสของปั๊มแอลพีจียังเติบโตได้อีกมาก และขยายตัวรวดเร็วกว่าเอ็นจีวีแน่นอน" นายวิชิต กล่าว

ขณะที่นายสมชัย ถาวรวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานภูมิภาคที่ 12 (สงขลา) กล่าวยอมรับว่า แม้ว่านโยบายรัฐจะสนับสนุนให้มีการติดตั้งเอ็นจีวีเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงขึ้น แต่การเติบโตของเอ็นจีวียังมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งที่ จ.สงขลา มีความพร้อมและนำร่องใช้เอ็นจีวีในภาคใต้ตอนล่าง เพราะแผนการขยายเอ็นจีวีซึ่งมี ปตท.เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ได้ล่าช้ากว่าเดิม โดยที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีปั๊มเอ็นจีวีเพียง 2 แห่งเท่านั้น และมีปัญหาขาดแคลนก๊าซในบางช่วงที่โรงแยกก๊าซขนอมมีปัญหา ทำให้ต้องขนส่งมาจาก จ.ราชบุรี ซึ่งใช้เวลาเกือบ 1 วันกว่าจะมาถึง จ.สงขลา รวมถึงการเติมที่ใช้เวลานานทำให้ต้องเสียเวลารอคิวนาน

ขณะที่การเติบโตของแอลพีจี ซึ่งไม่ได้อยู่ในแผนส่งเสริมเป็นพลังงานทางเลือกนั้น กลับมีการเติบโตและได้รับความนิยมจากประชาชน ทั้งจังหวัดมีปั๊มบริการก๊าซแอลพีจีสำหรับรถยนต์อย่างถูกต้องจากสำนักงานพลังงานภูมิภาคฯแล้ว 7 ราย ซึ่งมีหลักเกณฑ์พิจารณาที่สำคัญ เช่น ไม่ตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดง ไม่ติดทางแยก ทางโค้ง โรงเรียน สนามกีฬา และโรงพยาบาล ตลอดจนแยกชัดเจนระหว่างการบรรจุก๊าซแอลพีจีสำหรับครัวเรือนและรถยนต์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการขออนุญาตอีกหลายราย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นด้วยตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโรงบรรจุก๊าซที่สนใจลงทุนเปิดปั๊มแอลพีจี แม้ว่าในอนาคตจะต้องมีการลอยตัวแอลพีจีให้สะท้อนโครงสร้างราคาที่แท้จริงก็ตาม แต่ราคาที่น้อยกว่าน้ำมันดีเซลและการติดตั้งไม่แพงก็ยังจูงใจ

"แม้ว่ารัฐจะสนับสนุนให้ประชาชนใช้เอ็นจีวี แต่ถ้าผู้ประกอบการติดตั้งอย่างถูกกฎหมาย ขออนุญาตขนส่งเพื่อดัดแปลงเครื่องยนต์ถูกต้องก็ไม่รู้จะห้ามได้อย่างไร ประกอบกับการขยายตัวของปั๊มเอ็นจีวีใน จ.สงขลา ยังช้าอยู่และไม่ได้มีบริการทุกวัน บางวันต้องรอคิวยาวมากเป็นชั่วโมง ประชาชนก็ไม่มีทางเลือกมากนัก แต่คนติดแอลพีจีต้องคิดถึงอนาคตว่ารัฐประกาศแล้วว่าหนุนเอ็นจีวี"

ด้านนางโรจนา อรุณสกุล ขนส่งจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นทำให้เจ้าของรถยนต์หันมาดัดแปลงสภาพรถติดตั้งก๊าซแอลพีจีมีแนวโน้มมากขึ้น โดยมีการแจ้งทะเบียนเพื่อตรวจสอบสภาพรถเพื่อความปลอดภัยและขอให้แก้ไขทางทะเบียนต่อขนส่งจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี 2549 จำนวน 405 คัน, ปี 2550 จำนวน 1,098 คัน, ปี 2551 (ไตรมาสแรก) 484 คัน ขณะที่การเติบโตของรถยนต์ใช้เอ็นจีวีนั้นยังไต่ระดับไล่หลังอยู่มากจำนวน 19 คัน, 81 คันและ 101 คันตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น